xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิปี 64-75 วงเงิน 67,956 ล้าน ให้ ปชช.เข้าถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ ปี 2564-2575 กรอบวงเงิน 67,956 ล้านบาท มุ่งจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม การมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (22 ก.พ.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ ปี 2564-2575 กรอบวงเงินงบประมาณ 67,956 ล้านบาท โดยจะตั้งรายการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงาน ซึ่งแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมินี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบทิศทาง เป้าหมาย และกลไกการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพ เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาคเอกชน

ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มศักยภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิทุกรูปแบบที่ขับเคลื่อนโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน โครงการจัดทำคู่มือเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและสร้างกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เช่น โครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โครงการสรรหานักเรียนในพื้นที่เข้าสู่โครงการแพทย์คืนถิ่น โครงการสร้างสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานและเป็น happy work place

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาระบบสารสนเทศ การวิจัย และนวัตกรรมระบบปฐมภูมิ เช่น โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนากลไกและกระบวนการสร้างหลักธรรมาภิบาลในการอภิบาลระบบปฐมภูมิ เช่น โครงการบูรณาการงานสุขภาพปฐมภูมิเชื่อมโยงการทำงานกับกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โครงการบริหารจัดการการเงินการคลังในระบบสุขภาพปฐมภูมิ และยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างองค์ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเครือข่ายและชุมชน เช่น โครงการขับเคลื่อนโดยทีมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เน้นจัดสภาพพื้นที่ จัดหาอุปกรณ์ดูแลสุขภาพให้ประชาชน โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการและการจัดบริการด้านสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สำหรับผลที่คาดว่า จะได้รับ คือ มีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม มีความเชื่อมั่นศรัทธา และมุ่งสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น