“นายกฯ” ลั่นกลางสภา ไม่ลาออกจากตำแหน่ง ย้อนฝ่ายค้านเก็บใบลาออกไว้ให้ตัวเองเถอะ ยันรัฐแก้เหมืองทองอัคราฯ ตามกฎหมาย ไม่ได้ยึดเหมืองทองมาเป็นของรัฐ ไล่ย้อนไปดูรายละเอียดการใช้ ม.44
วันนี้ (18 ก.พ.) เวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวชี้แจงถึงประเด็นเรื่องเหมืองทองอัครา ว่า ตนฟังทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเป็นความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ที่จะนำไปดำเนินการต่อไปในหลายเรื่อง ซึ่งสิ่งสำคัญจะต้องเริ่มต้นที่ความเข้าใจก่อนว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาจากอะไร ภายหลังจากมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบกิจการเมืองแร่ พ.ศ. 2560 มีบริษัทเอกชนที่สนใจทำเหมืองได้ขอใบอนุญาตใหม่ และขอต่อใบอนุญาตเดิมกว่า 100 ราย ก็มีสิทธิได้รับใบอนุญาตและเป็นไปในลักษณะของคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งบริษัท เมืองทอง อัครา จำกัด ก็เป็นบริษัทหนึ่ง แต่มีคดีความฟ้องร้องกับรัฐบาลไทยก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสิทธิที่จะเดินเรื่องต่อขอใบอนุญาต และมีการทำตามขั้นตอนเหมือนบริษัทอื่นๆ และไม่ได้เป็นไปในลักษณะการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลทั้งสิ้น และรัฐบาลไม่ได้ตั้งเงื่อนไขใดๆ เป็นไปตามกฎหมายทุกขั้นตอน และถ้าตนจะถูกตีความว่าการต่อใบอนุญาตดังกล่าวเป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติและยกสมบัติของชาติให้กับบริษัทเอกชนตามอำเภอใจ ข้อกล่าวหานี้เป็นการกล่าวหา ตั้งแต่รัฐบาลในยุคนั้น หรือเป็นข้อกล่าวหาที่ขัดต่อนโยบายการทำเหมืองตั้งแต่อดีตที่ผูกพันมาจนถึงปัจจุบัน ตนก็พยายามจะแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าให้ได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ย้ำว่า การดำเนินการของรัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นหลัก และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ต้องการทำเหมือง หรือยึดเหมืองมาเป็นของรัฐ อาจจะมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพียงแต่ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมายตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่ฉบับใหม่ให้ถูกต้อง ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ จึงขอให้การอภิปรายเป็นไปอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ และคำถามหลายข้อเกิดจากการอนุมานของผู้อภิปรายเองที่พยายามจะบิดเบือนให้ประชาชนเห็นว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง และตนได้ตอบคำถามในการอภิปรายทุกครั้ง แต่ผู้อภิปรายไม่ได้ตั้งใจฟัง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการใช้มาตรา 44 ตนไม่เข้าใจผู้อภิปรายที่มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อผลประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ ซึ่งเหมือนผู้อภิปรายอยากให้ประเทศชาติเสียหายและตนเสียหาย มีความผิดในการใช้มาตรา 44 ยืนยันว่า สิ่งที่ทำคือการแก้ปัญหา และขอให้ไปดูรายละเอียดการใช้มาตรา 44 เป็นเรื่องการตรวจสอบดำเนินการ และให้ทุกเหมืองทุกประเภทไปทำให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย หากปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต คงไม่ใช่ตนคนเดียว ต้องย้อนกลับไปดูรัฐบาลเดิม ที่ทำไมไม่แก้ปัญหาตั้งแต่ตอนนั้น
“ผมขอแค่สภาเป็นสถานที่ที่รับฟังรับข้อเสนอแนะ ผมพร้อมจะฟังทุกท่าน หากท่านหวังเพียงว่าจะเอาตีรัฐบาลจะล้มรัฐบาล และให้ผมออกให้ได้ ผมว่าไม่ถูก ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน หน้าที่ของท่าน คือ ไปเข้ากระบวนการ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา เห็นมีการยื่นใบลาออก เก็บไว้ให้ตัวเองเถอะ ผมยังไม่ลาออกอะไรทั้งนั้น” นายกฯ กล่าว