ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า 2 มาตรา พ.ร.บ.อนุญาโตฯ-ทนายความ ไม่ขัด รธน.
วันนี้ (17 ก.พ.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าพรบอนุญาโตตุลาการ 2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 44 คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ว่าจะได้ทำขึ้นในประเทศใดให้ผูกพันคู่พิพาทและเมื่อได้มีการร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจย่อมบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า ในกรณีคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกระทำขึ้นในต่างประเทศ ศาลที่มีเขตอำนาจจะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดให้ต่อเมื่อเป็นคำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งมีประเทศไทยเป็นภาคีและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวสืบเนื่องมาจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางส่งคำโต้แย้งของ บริษัท ทองเสียง จำกัด ผู้คัดค้านในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ กค 1/2564 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ 2545 มาตรา 41 ที่ให้ศาลยอมรับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 หรือไม่
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเป็นเอกฉันท์ในคดีที่ ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของ นางศศินันท์ จงธนะพิพัฒน์ ในคดีหมายเลขดำที่ 2746/2563 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า พ.ร.บ.ทนายความ 2528 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง (1) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 29 หรือไม่ โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ทนายความ 2528 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง (1) ที่บัญญัติว่าโทษผิดมารยาททนายความมี 3 สถาน คือ(1) ภาคทัณฑ์โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 29