xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” เห็นด้วย “ภูมิใจไทย” ค้านขยายสัมปทาน BTS สายสีเขียว แนะตั๋วร่วมแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ก้าวไกล” ยืนข้าง “ภูมิใจไทย” ค้านขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชง “ตั๋วร่วม” แก้ปัญหา จี้ดูในสัญญามีหรือไม่ อย่าให้ซ้ำรอยหนี้ท่วมปี 58

วันนี้ (8 ก.พ.) นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวคัดค้านการที่ ครม.เตรียมจะเห็นชอบการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2572 ออกไปอีก 30 ปี ทำให้สัญญาขยายไปถึง พ.ศ. 2602 ที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เป็นเหตุให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวแพง

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้คัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2562 และตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่คัดค้าน พร้อมทั้งเสนอให้แก้ไขสัญญาอย่างเป็นธรรม โปร่งใส แต่รัฐบาลก็ยังดึงดันจะต่อสัญญาออกไป เห็นได้จากการประชุม ครม.วันที่ 8 ก.พ. ที่มีความพยายามจะต่อสัญญาออกไปอีก 30 ปี พรรคก้าวไกลขอคัดค้าน และเห็นว่า ทางออกเรื่องนี้ คือ ผลักดันให้เกิดตั๋วร่วม โดยบริษัท บีทีเอส ควรจะเข้าร่วมค่าโดยสารร่วมด้วย ครอบคลุมไปถึงประชาชนที่สัญจรทั้งทางรถไฟฟ้า และรถเมล์ด้วย การมาแถลงข่าวครั้งนี้ อยากจะชี้ให้ประชาชนเห็นว่า ใครทำอะไร เมื่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงควรเลือกพรรคที่จะมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้กับประชาชน โดยไม่เอื้อให้กับบริษัทเอกชน ส่วนกรณีรัฐมนตรีในพรรคภูมิใจไทยทั้ง 7 คน แสดงจุดยืนคัดค้าน โดยไม่ขอเข้าร่วมประชุม ครม.ในวันนี้ (8 ก.พ.) นั้น แน่นอนเรื่องนี้ อาจมีทั้งเห็นตรงกัน ต่างกัน แต่เรื่องนี้พรรคก้าวไกลกับพรรคภูมิใจไทยเห็นตรงกัน ที่ไม่ควรขยายสัญญาสัมปทาน จากสัญญาปัจจุบันออกไป

ด้าน นายวิโรจน์ กล่าวว่า คน กทม.เผชิญกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง เนื่องจากมีสัญญาสัมปทานพัวพันกันมากกว่า 10 ฉบับ ต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเวลาเดินทางที่ต้องเปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนสี ก็ต้องมาจ่ายค่าแรกเข้าใหม่ ทำให้ค่าโดยสารแพง ผู้ว่าฯ กทม. ต้องกระตือรือร้น ทำให้มั่นใจว่า การที่จะต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดในปี 2572 และจะมีการต่อสัญญาจากวันนี้ออกไป รวมเป็น 37 ปี ที่จะไปสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2602 ต้องทำให้มั่นใจว่า มีการพูดถึงตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วมด้วยหรือไม่ แต่เท่าที่ติดตาม คือ ยังไม่มี ดังนั้น จะทำให้คน กทม.ต้องรับภาระค่ารถไฟฟ้าแพง ผู้ว่าฯ กทม.แม้จะมีอำนาจจำกัด แต่ท่านก็ต้องดูแลค่าครองชีพให้ประชาชน ไม่อยากให้เกิดเหมือนกรณีเมื่อปี 2558 ที่ได้ไปรับส่วนต่อขยายจาก รฟม.ทำให้เป็นหนี้กว่าแสนล้านบาท เป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถ เนื่องจากประเมินผู้โดยสารผิดพลาด จนมาถึงเรื่องนี้ก็ยังไม่เห็นบทบาทผู้ว่าฯ กทม. ที่กระตือรือร้นว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ประชาชนอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น