จับตาคำชี้ขาดอนุญาโตฯ 31 ม.ค.ปม ม.44 ปิดเหมืองทองอัคราฯ “สมชัย” หวั่นใช้ผลประโยชน์ชาติแลกค่าปรับ 3 หมื่น ล. หลังออสซี่ชี้ไทยให้สัมปทานคิงส์เกตเพิ่ม 4 แสนไร่ 10 ปี เป็นสัญญาณบวกระหว่างรัฐกับบริษัท ถามกลับหน.คสช.ต้องรับผิดชอบหรือไม่
วันนี้ (26 ม.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความให้จับตาการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ต่อกรณีปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ในขณะนั้นใช้อำนาจตาม ม 44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราฯ โดยระบุว่า ประเด็นเหมืองทองอัคราฯ
1. วันที่ 31 มกราคม 2565 จะมีคำขี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในประเด็นที่ บริษัท คิงส์เกต ฟ้องรัฐบาลไทย เรียกค่าเสียหายจาก กรณี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะที่เป็นหัวหน้า คสช. มีคำสั่ง ม.44 สั่งปิดเหมืองทอง เมื่อปี 2559 โดยบริษัทได้เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท
2. รัฐบาลไทยได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยมีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วม และมีการตั้งงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้จ่ายในการจัดการคดีเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท
3. การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. เป็นประเด็นที่ต้องชมเชยว่า ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประชาชน แต่มีข้อตำหนิว่าการใช้อำนาจดังกล่าว มีความไม่รอบคอบทางข้อกฎหมาย จนนำไปสู่การฟ้องร้อง
4. การไต่สวนของคณะอนุญาโตตุลาการได้สิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่มีการขอเลื่อนการตัดสินชี้ขาดมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรก เลื่อนเป็นวันที่ 31 ต.ค. 2564 และครั้งที่สอง เลื่อนเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2565 โดยให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างการเจรจาคู่ขนานที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนคำตัดสินชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ โดยมีผู้ให้ข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยอาจใช้วิธีการเสนอผลประโยชน์แลกเปลี่ยนเพิ่มเติมเพื่อยุติกรณีค่าปรับ 30,000 ล้านบาท
5. วันที่ 19 ธันวาคม 2564 บริษัท คิงส์เกต ออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้สัมปทานการทำแร่เพิ่มอีก 4 รายการ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 400,000 ไร่ โดยมีอายุสัมปทาน 10 ปี ได้กล่าวว่าเป็นสัญญาณในทางบวกระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท
6. วันที่ 31 มกราคม 2565 ที่จะถึงนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ ที่จะมีขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ว่าจะมีคำตัดสินเป็นอย่างไร และจะเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของชาติอย่างมหาศาลจากการหลีกเลี่ยงไม่ถูกปรับ 30,000 ล้านบาท ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่