xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ร้องผู้ตรวจฯ ฟัน “สุริยะ-อธิบดี กพร.” ผิด กม.ต่ออายุประทานบัตรเหมืองทองคำ ให้ บ.อัคราฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มภาค ปชช. ยื่นคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เอาผิด “สุริยะ-อธิบดี กพร.” ปมต่ออายุประทานบัตรเหมืองทองคำ ให้บริษัท อัคราฯ อ้างไม่ประกาศเขตแหล่งแร่-เปิดประมูลให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม ผิด กม.

วันนี้ (26 ม.ค.) นางอารมย์ คำจริง แกนนำกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ จำนวน 30 คน ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายอาจณรงค์ พุ่มงาม ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกลาง สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และ นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กรณีออกประทานบัตรเหมืองแร่และต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ จำนวน 4 แปลง ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่งจ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ให้กับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2564 ถึง 29 ธ.ค. 2574 รวมทั้งออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรมและต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ใบอนุญาตที่ 1/2551 ให้กับบริษัท อัคราฯ เนื่องจากเห็นว่าการขออนุญาตปัจจุบันอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ 2560 ซึ่งต้องประกาศเขตแหล่งแร่ ตามมาตรา 19 และต้องนำพื้นที่มาประกาศเปิดประมูลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามมาตรา 21 โดยกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ยกเว้นได้

นอกจากนี้ มาตรา 189 กฎหมายเดียวกัน ยังบัญญัติว่าบรรดาอาชญาบัตร ใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตาม พ.ร
.บ.แร่ 2510 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาต ตามพ.ร.บ.นี้และให้ยังคงใช้ได้จนสิ้นอายุ หรือถูกเพิกถอน โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติในพระราชบัญญัติ ดังนั้น แม้บริษัท อัคราฯ จะเคยยื่นคำขอหรือได้รับอาชญาบัตรเดิมมาตั้งแต่ พ.ร.บ.แร่ 2510 แต่การได้รับอนุญาตต่อไปจะต้องมีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 คือ ต้องประกาศเขตแหล่งแร่ และประกาศให้มีการประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรม การที่กระทรวงอุตสาหกรรม อ้างว่า เป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมของบริษัทที่ยื่นไว้ตั้งแต่ 2546 และ 2548 มาเป็นเงื่อนไขคุณสมบัติและได้มีการดำเนินการต่อตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำและ พ.ร.บ.แร่ 2560 ในการออกใบอนุญาตจึงไม่ถูกต้องและเป็นการทำผิดกฎหมาย

ส่วนการต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้กับบริษัท อัคราฯ เห็นว่า ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอยู่ระหว่างการสอบสวนดำเนินคดีกับบริษัท อัคราฯ กรณีโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงยังไม่สมควรที่จะมีการต่อใบอนุญาตให้กับบริษัท

“เรื่องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายสุริยะ และ นายนิรันดร์ ที่ต้องตรวจสอบกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่กับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งยังใช้อำนาจในการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษประทานบัตร และโรงประกอบโลหกรรมให้กับบริษัท อัคราฯได้สิทธิในการเดินหน้าทำเหมือนทองคำครั้งใหม่ โดยไม่ใส่ใจความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทอัคราฯโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”


กำลังโหลดความคิดเห็น