xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาลรัฐธรรมนูญ” ลงนามร่วมมือเผยแพร่-ให้ความรู้ตามรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาลรัฐธรรมนูญ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการเผยแพร่และให้ความรู้ตามรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (26 ม.ค.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการเผยแพร่และให้ความรู้ ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 51 และมาตรา 213 โดยความร่วมมือด้านการเผยแพร่และให้ความรู้ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ ด้านการใช้สิทธิของประชาชนหรือชุมชนในการฟ้องร้องขอความเป็นธรรมเมื่อถูกละเมิด โดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐ เพื่อรักษาประโยชน์และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเสริมศักยภาพและการบูรณาการความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของทั้ง 2 องค์กรให้เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง มีประสิทธิภาพภายใต้บทบาท อำนาจและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 และมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ มาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติหน้าที่ ตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ให้ถูกต้องครบถ้วน มีสิทธิที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ และฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้น โดย มีสิทธิยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งหากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการได้ และหากบุคคลหรือชุมชนเห็นว่าการสั่งการของคณะรัฐมนตรียังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ บุคคลหรือชุมชนก็มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยได้

ส่วนมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นชัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณากลั่นกรองและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ยื่นคำร้องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง บุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้




กำลังโหลดความคิดเห็น