ศาล ปค.สูงสุดไม่คุ้มครอง “วิระชัย” ปม “นายกฯ-จักรทิพย์” สำรองราชการพ้นตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ชี้ หากคุ้มครองฯ อาจทำให้ใช้อำนาจเข้าไปยุ่งพยานหลักฐานคดีคลิปเสียง-กระทบศรัทธา ปชช.ต่อกระบวนการยุติธรรม
วันนี้ (21 ม.ค.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค. 63 สำรองราชการพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา และประกาศของนายกรัฐมนตรี ที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 ส.ค
63 ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
คดีนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น และนายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งดังกล่าวหลังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า การเผยแพร่เทปบันทึกเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ และ พล.ต.อ.วิระชัย กรณีคนร้ายลอบยิงรถยนต์ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งพลตำรวจเอก วิระชัย เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำรองราชการ และคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งระหว่างพิจารณาคดีศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทุเลาการบังคับตามคำสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ให้สำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาซึ่งต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์
ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นในวันนี้ เนื่องจากเห็นว่า การที่ พล.ต.อ.วิระชัย ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและต้องหาว่ากระทำผิดอาญา กรณีจึงอยู่ในเงื่อนไขที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะมีคำสั่งสำรองราชการได้ แต่คำสั่งสำรองราชการดังกล่าว ยังมีข้อสงสัยว่าจะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งตามข้อ 8 วรรคสองของกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือส่วนราชการใด หรือสำรองราชการในส่วนราชการใด 2548 ได้กำหนดว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสำรองราชการ ในส่วนราชการใดให้นำความกราบบังคมทูลฯเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันประจำหรือสำรองราชการตามมาตรา 104 ด้วย ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 ส.ค. 63 ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจถือว่าคำสั่งดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ดังนั้น การออกคำสั่งสำรองราชการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค. 63 ตั้งแต่ 29 ก.ค. 63 จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ประกาศของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 ส.ค. 63 ที่ให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยนั้น เห็นว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ใช่คู่กรณีกับ พล.ต.อ.วิระชัย แต่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจบริหารงานบุคคลเพื่อให้มีความประพฤติอยู่ในกรอบของกฎหมาย เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบจากสื่อมวลชนว่ามีคลิปบันทึกเสียงการสนทนาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการเกี่ยวกับข้าราชการกับ พล.ต.อ.วิระชัย เผยแพร่ออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต และต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการลักลอบบันทึกเสียง จึงเป็นพฤติกรรมที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกิดความเสียหาย อีกทั้งยังอาจเป็นความผิดทางวินัยด้วย เมื่อ พล.ต.อ.วิระชัย ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยกับ พล.ต.อ.วิระชัย ตามกฎหมายซึ่งการดำเนินการทางวินัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีมีสภาพร้ายแรงอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง
นอกจากนี้ การให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาภายหลัง เพราะหากศาลปกครองมีคำพิพากษาตามคำขอของ พล.ต.อ.วิระชัยๆ ย่อมมีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมายในระหว่างถูกสำรองราชการและถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
“แต่หากศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ เพราะย่อมมีผลทำให้พล.ต.อ.วิระชัย มีสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง และอาจทำให้ พล.ต.อ.วิระชัย ใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี รวมทั้งอาจทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือศรัทธาต่อหน่วยงานตํารวจและกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐแล้ว กรณีนี้จึงเห็นได้ว่ายังไม่มีเหตุสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387 /2563 ลงวันที่ 29 ก.ค. 63 ที่สั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ และประกาศของนายกรัฐมนตรี ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 ส.ค. 63 ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไว้เป็นการชั่วคราวตามคำขอ”