xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.ระยอง สั่งระงับรื้ออาคารบ้านสุขาวดีบางส่วน เหตุคำสั่งนายกพัทยาอาจไม่ชอบด้วยกม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บ้านสุขาวดี (แฟ้มภาพ)
ศาลปค.ระยอง มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งนายกเมืองพัทยา โดยให้ระงับการรื้อถอนอาคารบ้านสุขาวดีบางส่วน เหตุคำสั่งรื้อถอนดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (6ม.ค.) มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ศาลปกครองระยองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ในคดีที่ บริษัท เฮลธ์ ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารบ้านสุขาวดี ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ยื่นฟ้อง เมืองพัทยา นายกเมืองพัทยา และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ในเขตเทศบาลเมืองพัทยาฯ กรณีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่นายกเมืองพัทยามีคำสั่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำนวน8 ฉบับ ให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ห้ามใช้หรือเข้าไปในอาคาร และให้รื้อถอนอาคารบ้านสุขาวดีของผู้ฟ้องคดี จำนวน 3 อาคาร (อาคาร A, B และ C) รวมทั้งป้ายโครงเหล็ก จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทั้ง 8 ฉบับ ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่ของเมืองพัทยาได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดการรื้อถอนและเร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคาร A และป้ายโครงเหล็ก และอาคาร C ภายใน 15 วัน ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของนายกเมืองพัทยาที่ให้รื้อถอนอาคารเหล่านั้น โดยศาลได้ออกตรวจสถานที่พิพาทและทำการไต่สวนคู่กรณีเมื่อวันที่ 9พ.ย.64

โดยเหตุผลที่ศาลปกครองระยองมีคำสั่งทุเลาให้ระงับการรื้อถอนอาคารบ้านสุขาวดีบางส่วน ระบุว่ามาตรา 66 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 73วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทได้ ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และการทุเลาการบังคับนั้นจะไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะซึ่งศาลปกครองระยองพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนของคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร A ซึ่งเป็นเวทีการแสดง และป้ายโครงเหล็กนั้น นายกเมืองพัทยาอ้างเหตุผลในคำสั่งว่า อาคารดังกล่าวตั้งอยู่บนที่สาธารณะซึ่งไม่มีเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยตามแบบรังวัด ร.ว. 9 บันทึกว่าเป็น “ทะเล” แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อปี พ.ศ. 2561 ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน (ที่งอกชายทะเล) บริเวณพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างอาคาร A และป้ายโครงเหล็กนั้น ดังนั้น ในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารด้วยเหตุผลว่าก่อสร้างบนที่สาธารณะ นายกเมืองพัทยาจะต้องพิจารณาให้ได้ข้อยุติก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงซึ่งได้ขอออกโฉนดที่ดินไว้แล้วนั้นหรือไม่ หากที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่งอก ไม่ใช่ที่สาธารณะ นายกเมืองพัทยาย่อมไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโดยอาศัยเหตุที่ว่าเป็นการก่อสร้างบนที่สาธารณะได้ การที่นายกเมืองพัทยายังมิได้พิจารณาพยานหลักฐานที่จำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงมีผลให้คำสั่งให้รื้อถอนอาคาร A และป้ายโครงเหล็กน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง อาคาร A และป้ายโครงเหล็กดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท หากเจ้าหน้าที่ของเมืองพัทยาทำการรื้อถอนตามคำสั่งไปแล้ว และต่อมาศาลวินิจฉัยว่าคำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยา

"แม้นายกเมืองพัทยาจะอ้างว่า หากมีการรื้อถอนอาคารทั้งหมดแล้ว เมืองพัทยาจะได้ปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่ออกกำลังกายบนพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างเป็นอาคาร A แต่ไม่ปรากฏว่า ในขณะนี้เมืองพัทยามีแผนงานและงบประมาณที่จะจัดทำโครงการดังกล่าว การทุเลาการบังคับตามคำสั่งรื้อถอนอาคารในส่วนนี้จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของเมืองพัทยาแต่อย่างใด จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของนายกเมืองพัทยาที่ให้รื้อถอนอาคาร A และป้ายโครงเหล็ก และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยืนตามคำสั่งในส่วนนี้ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น"

ส่วนคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร C ซึ่งเป็นอาคารจัดเลี้ยงนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาคารดังกล่าวได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 โดยมีระยะห่างจากแนวโขดหินริมทะเลเพียง 5.70เมตร เมตร และอาคารทั้งหลังตั้งอยู่ในระยะ 20 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อ.บางละมุง และอ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พ.ศ. 2553 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำการก่อสร้างอาคาร กำหนดให้บริเวณพื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 20 เมตร ห้ามก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารใด ๆ เว้นแต่อาคารที่เป็นองค์ประกอบของระบบสาธารณูปโภค อาคารของส่วนราชการ เพื่อรักษาความปลอดภัย เพื่ออำนวยความสะดวก หรือเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และโครงสร้างเสาสัญญาณเตือนภัย เมื่ออาคารของผู้ฟ้องคดีเป็นอาคารเพื่อใช้ในกิจการของผู้ฟ้องคดี จึงไม่เข้าข้อยกเว้นและไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้ก่อสร้างได้ในระยะ 20 เมตร ในชั้นนี้ จึงยังไม่ปรากฏว่า คำสั่งของนายกเมืองพัทยาที่ให้รื้อถอนอาคาร C และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของนายกเมืองพัทยาที่ให้รื้อถอนอาคาร C และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยืนตามคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร C ดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น