xs
xsm
sm
md
lg

เขตปทุมวันสั่งห้ามใช้อาคาร ป้าย LED ยักษ์ติดทางด่วนซอยร่วมฤดี 2 พบไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานเขตปทุมวัน ติดประกาศ "ห้ามใช้อาคาร" ป้าย LED ยักษ์ติดทางด่วนเฉลิมมหานคร ประชิดท้ายซอยร่วมฤดี 2 หลังพบว่าไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน

จากกรณีที่ทีมข่าว MGR Online ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านรายหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากป้ายโฆษณาที่ถูกดัดแปลงมาเป็นป้าย LED ยักษ์ ของบริษัท อควา แอด จำกัด ติดตั้งริมรั้วทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงดินแดง-ท่าเรือ ใกล้ทางขึ้น-ลงเพลินจิต ซึ่งอยู่ท้ายซอยร่วมฤดี 2 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมเป็นเพียงป้ายโฆษณาธรรมดา ได้ถูกติดตั้งจอ LED บนโครงสร้างป้ายไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยพบว่าแสงจากป้าย LED สะท้อนไปยังที่พักอาศัย และคอนโดมิเนียมด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ฝั่งตรงข้ามทางด่วน ถนนดวงพิทักษ์ ก่อความเดือดร้อนรำคาญ

นอกจากนี้ ตัวโครงสร้างป้ายแทบจะชิดติดถนนด้านซอยแยก ซึ่งด้านในยังมีที่พักอาศัยทั้งบ้านเรือนประชาชนและคอนโดมิเนียมจำนวนมาก เกรงว่าหากเกิดลมแรงจะทำให้ป้ายดังกล่าวที่มีน้ำหนักมากล้มลง เป็นอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรไปมาบริเวณดังกล่าวได้ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้สอบถามไปยังสำนักงานเขตปทุมวันว่า ป้ายดังกล่าวก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ พบว่ามีการยื่นตรวจสอบใหญ่เมื่อเดือน มี.ค. 2564 แต่ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างป้าย จึงร้องเรียนต่อทีมข่าว MGR Online ให้ช่วยเป็นสื่อกลางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย

อ่านประกอบ : “มลพิษทางแสง” อีกจุด ป้าย LED ซอยร่วมฤดี 2 สว่างทะลุทางด่วน-โครงสร้างประชิดซอย




ล่าสุด วันนี้ (23 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตปทุมวัน ได้นำป้าย "ห้ามใช้อาคาร" มาติดไว้บริเวณริมรั้วของป้าย LED ยักษ์ดังกล่าว ตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ กท. 5543, 5544 และ 5545/2564 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 23 ธ.ค. 2564 ฝ่าฝืนมีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละ 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน พร้อมติดคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง การดัดแปลง การรื้อถอน หรือการเคลื่อนย้ายอาคาร ตามมาตรา 40 (1) (แบบ ค.3), คำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร หรือบริเวณที่มีการก่อสร้าง การดัดแปลง การรื้อถอน หรือการเคลื่อนย้ายอาคาร ตามมาตรา 40 (2) และคำสั่งให้ยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแจ้ง หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการก่อสร้าง การดัดแปลง การรื้อถอน หรือการเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 41 (แบบ ค.5) รวมถึงรายการแนบท้ายคำสั่ง แบบ ค.5 เลขที่ กท 4403/5549 ไว้บนรั้วของป้าย LED ยักษ์ดังกล่าวด้วย

สาระสำคัญโดยสรุปก็คือ นายอรรถพล คณาศรี เจ้าของอาคาร ได้ทำการก่อสร้างอาคารชนิดโครงสร้างเหล็ก ขนาดกว้าง 5.40 เมตร ยาว 30.00 เมตร สูง 25.20 เมตร เพื่อใช้เป็นป้ายโฆษณาที่ซอยร่วมฤดี 2 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 40 (1) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้ระงับการก่อสร้างป้ายโฆษณา จนกว่าจะได้รับอนุญาต หรือใบอนุญาต หรือใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมกันนี้ ให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามรายละเอียดแนบท้ายคำสั่งฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนี้ และยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ตามแบบ ข.1 หรือดำเนินการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 39 ทวิ ภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด ลงนามโดย นางมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น




อนึ่ง ตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 36 ระบุว่า ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะ (และสูงไม่เกิน 30 เมตร) มีความยาวไม่เกิน 32 เมตร และต้องห่างจากที่ดินไม่น้อยกว่า 4 เมตร ส่วนข้อ 50 ระบุว่า ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ดินต้องมีระยะร่น ได้แก่ ถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวห่างกึ่งถนนสาธารณะอย่างน้อย 6 เมตร ส่วนตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 ข้อ 3 ในข้อบัญญติกรุงเทพมหานครนี้ บริเวณที่ 1 หมายความว่า พื้นที่ภายในเขตทางพิเศษและในระยะ 50 เมตร จากเขตทางพิเศษทั้งสองฟากในกรุงเทพมหานคร (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี)

ข้อ 4 ภายในบริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 บริเวณที่ 3 บริเวณที่ 4 และบริเวณที่ 5 ห้ามบุคคลใดก่อสร้างอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายทุกชนิด เว้นแต่ป้ายดังต่อไปนี้ (1) ป้ายชื่อถนน ตรอก ซอย ป้ายของทางราชการที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง (2) ป้ายเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของสถานประกอบการ (โลโก้) และป้ายบอกชื่อสถานที่ เช่น ป้ายชื่ออาคาร ป้ายชื่อสถานประกอบการ ป้ายชื่อหมู่บ้าน โดยมีพื้นที่รวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร แต่มิใช่ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร การวัดความสูงจากป้ายให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของป้าย
















กำลังโหลดความคิดเห็น