xs
xsm
sm
md
lg

“มลพิษทางแสง” อีกจุด ป้าย LED ซอยร่วมฤดี 2 สว่างทะลุทางด่วน-โครงสร้างประชิดซอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มลพิษทางแสงอีกจุด ป้ายโฆษณา LED ยักษ์ ซอยร่วมฤดี 2 เขตปทุมวัน ติดโครงป้ายเก่าประชิดทางด่วน อีกด้านประชิดท้ายซอย ส่องสว่างทะลุฝั่งตรงข้าม ก่อความเดือดร้อนรำคาญ กังวลความปลอดภัยเวลามีลมแรง พบไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างป้ายแต่ยื่นตรวจสอบใหญ่ทุกปี วอนปิดไฟก่อนเพราะอยู่ไม่ได้จริงๆ


รายงานพิเศษ

มลพิษทางแสงจากป้ายโฆษณา LED เปรียบเสมือนยก “จอทีวียักษ์” ออกมาตั้งไว้กลางแจ้ง แสงถูกส่องออกมาจากป้าย เคลื่อนไหววิบวับอยู่ตลอดเวลา ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่บ้านเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งพบว่าล้วนเป็นการดัดแปลงโครงอาคารเหล็ก จากป้ายโฆษณาแบบเดิมมาเป็นป้าย LED โดยที่บางแห่งไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วยซ้ำ

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในซอยทองหล่อ เขตวัฒนา ได้รับความเดือดร้อนจากป้าย LED ขนาดยักษ์ ถูกติดตั้งอยู่บนอาคารกินพื้นที่ 6 คูหา เปิดโฆษณาหลากหลายเนื้อหาสลับไปมาทั้งกลางวันและกลางคืน ตั้งแต่ก่อนเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา แสงสว่างส่องทะลุทะลวงไปยังชั้นที่ 3 และ 4 ของที่พักอาศัยฝั่งตรงข้าม ส่งผลให้ผู้พักอาศัยไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้

ที่ผ่านมาได้ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตวัฒนา ตรวจสอบแล้วพบว่าแสงจากป้ายเข้าข่ายเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญ อีกทั้งยังติดตั้งป้ายโดยพลการ จึงมีคำสั่งให้รื้อถอน แต่กลุ่มธุรกิจเจ้าของป้าย LED เข้ามาขอเจรจากับผู้ร้องเรียนเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกรื้อป้าย ขณะที่อีกด้านหนึ่งพบว่าป้าย LED ยังคงฉายโฆษณาอย่างต่อเนื่อง โดยยอมเสียค่าปรับเพียงเดือนละ 3 แสนบาท

อ่านประกอบ : “มลพิษทางแสง” ป้ายโฆษณา LED รุกล้ำที่พักอาศัยย่านทองหล่อ ข้องใจ จนท.ยันผิดแต่ยังไม่ถูกรื้อ 

เมื่อ “บ้านต้องสวมหน้ากาก” เปิดใจเจ้าของบ้านต้นซอยทองหล่อ ต้องขึงผ้าใบทั้งบ้าน กันแสงจากป้ายโฆษณา LED ยักษ์ 

เปิดเรตโฆษณาป้าย LED “บ้านสวมหน้ากาก” ทองหล่อ ค่าปรับหมื่นเดียวแต่โกยรายได้ถึง 1.3 ล้าน 

แต่ไม่ใช่เพียงแค่ในซอยทองหล่อเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะหลังจากที่ MGR Online นำเสนอเรื่องราวนี้ออกไป พบว่ายังมีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากป้าย LED อีกแห่งหนึ่งร้องเรียนเข้ามา เพื่อช่วยเป็นสื่อกลางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย


ทีมข่าว MGR Online ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านรายหนึ่ง ได้รับผลกระทบจากป้ายโฆษณาที่ถูกดัดแปลงมาเป็นป้าย LED ยักษ์เช่นกัน ป้ายดังกล่าวติดตั้งริมรั้วทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงดินแดง-ท่าเรือ ท้ายซอยร่วมฤดี 2 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมเป็นเพียงป้ายโฆษณาธรรมดา ได้ถูกติดตั้งจอ LED บนโครงสร้างป้ายไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

หลังฉายโฆษณาผ่านจอ LED พบว่าแสงดังกล่าวสะท้อนไปยังที่พักอาศัย และคอนโดมิเนียมด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ฝั่งตรงข้ามทางด่วน ก่อความเดือดร้อนรำคาญเช่นกัน

เมื่อทีมข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าป้ายดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณทางโค้งท้ายซอยร่วมฤดี 2 ห่างจากปากซอยไปประมาณ 170 เมตร จะเห็นโครงสร้างด้านหลังของป้าย LED ดังกล่าว ติดกับทางด่วน เพื่้อฉายโฆษณาให้กับผู้ใช้ทางที่มาจากดินแดงมุ่งหน้าท่าเรือเป็นหลัก แสงจากป้ายสาดไปถึงคอนโดที่อยู่ด้านเหนือ และข้ามไปถึงอาคารที่พักอาศัยฝั่งตรงข้าม ถนนดวงพิทักษ์


นอกจากนี้ ตัวโครงสร้างยังแทบจะชิดติดถนนด้านซอยแยก ซึ่งด้านในมีที่พักอาศัยทั้งบ้านเรือนประชาชนและคอนโดมิเนียมจำนวนมาก และด้วยโครงสร้างที่เคยรองรับป้ายโฆษณาแบบเดิม แต่ได้ทาสีใหม่และติดตั้งจอ LED เกรงว่าหากเกิดลมแรงจะทำให้ป้ายดังกล่าวที่มีน้ำหนักมากล้มลง เป็นอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรไปมาบริเวณดังกล่าวได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า เดิมป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นป้ายโล่ง ถูกติดตั้งมานานหลายปี แต่อยู่ๆ ก็มีการติดตั้งป้าย LED ขึ้นมา จึงมีข้อกังวลว่า ป้ายดังกล่าวเป็นป้ายเก่า พอติดชิ้นส่วน LED ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น กังวลว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่

จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานเขตปทุมวันว่า ป้ายดังกล่าวก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ การต่อเติมได้รับอนุญาตหรือเปล่า และผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคารหรือไม่ เพราะป้ายโฆษณา ถือเป็นอาคารควบคุม 9 ประเภท ที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร ต่อมาสำนักงานเขตปทุมวันชี้แจงว่า ป้ายดังกล่าวผิดกฎหมาย ต้องหยุดดำเนินกิจการและให้รื้อถอน และจะมีคำสั่งตามมา

"ป้ายดังกล่าวผิดเรื่องการรับน้ำหนัก ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร การดัดแปลงโครงสร้าง เมื่อเปิดใช้งานมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย เพราะแสงสว่างที่ออกมาจากป้าย LED นั้นแรงมาก เข้าไปในบ้านทำให้นอนไม่หลับ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ที่สำคัญ ทางเขตดำเนินการล่าช้า ไม่รู้ว่าติดขัดอะไร ทั้งที่ต้องดำเนินการให้เร็วกว่านี้ ขอความกรุณาให้ปิดไฟก่อนเพราะอยู่ไม่ได้จริงๆ"


แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตามกฎหมายป้ายดังกล่าวจะต้องมีการตรวจสอบใหญ่ทุกปี โดยจะมีผู้ตรวจสอบดูว่าป้ายดังกล่าวรับน้ำหนักได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีเอกสารหลัก คือ "ใบอนุญาตก่อสร้างป้าย" ปรากฎว่ามีการยื่นตรวจสอบใหญ่เมื่อเดือน มี.ค. 2564 แต่ไม่มีใบอนุญาต สำนักงานเขตก็ไม่เจอ เท่ากับว่าเอกสารไม่ครบถ้วน จึงสงสัยว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นรับเอกสารได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เจ้าของป้ายโฆษณา ที่ยื่นเอกสารตรวจสอบใหญ่ เป็นนิติบุคคลแห่งหนึ่ง แต่บริษัทที่รับโฆษณาบนป้าย LED เป็นนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง คือ บริษัท อควา แอด จำกัด จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเช่าช่วงจากเจ้าของป้ายโฆษณาเดิมมาอีกครั้งหนึ่ง

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตปทุมวันระบุว่าผิด ตามหลักการจะมีคำสั่งให้รื้อถอน ถ้าเจ้าของป้ายไม่รื้อถอน กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้รื้อเอง แต่กว่าจะนำงบประมาณของหลวงไปรื้อป้ายตรงนี้ใช้เวลานานมาก ผู้เสียหายคงต้องอยู่กับป้ายนี้ไปอีกนาน

"ป้ายโฆษณา LED ดังกล่าวเมื่อผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคารก็ควรดำเนินการให้ถูกต้อง แต่สิ่งที่อยากจะขอความกรุณาเวลานี้ คือ ระงับการเปิดแสงสว่างฉายโฆษณาบนป้าย LED ชั่วคราวไปก่อนได้ไหม เพราะช่วงเวลากลางคืนสว่างสุดๆ แล้วผมอยู่ไม่ได้ ส่วนเรื่องการก่อสร้างความแข็งแรง อันตราย เพราะลมมันแรง การรับน้ำหนักของป้ายเมื่อมันหนัก แล้วโครงสร้างเก่าจะรับได้ไหม" แหล่งข่าวกล่าวในตอนท้าย

ป้ายโฆษณา LED ที่ร้องเรียน มองจากมุมหน้าต่างรถไฟฟ้าบีทีเอส
กำลังโหลดความคิดเห็น