xs
xsm
sm
md
lg

“มลพิษทางแสง” ป้ายโฆษณา LED รุกล้ำที่พักอาศัยย่านทองหล่อ ข้องใจ จนท.ยันผิดแต่ยังไม่ถูกรื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวบ้านย่านทองหล่อ ร้องเรียนถูกป้ายโฆษณา LED ส่องแสงรุกล้ำที่พักอาศัยย่านทองหล่อ ข้องใจเจ้าหน้าที่ยืนยันว่ามีความผิด แต่ขณะนี้ยังไม่ถูกรื้อถอน


รายงานพิเศษ

ป้ายโฆษณารูปแบบเดิมที่เป็นภาพนิ่งติดตั้งตามอาคารต่างๆ จะมีเพียงแสงไฟสาดส่องลงไปที่ป้าย เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมาเห็นข้อความในโฆษณานั้นได้ชัดเจนขึ้น แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการติดป้ายโฆษณาบนท้องถนนเปลี่ยนแปลงไป จากป้ายภาพนิ่ง เปลี่ยนไปเป็นภาพเคลื่อนไหว จากโฆษณาสินค้าเพียงชิ้นเดียว กลายเป็นการโฆษณาได้หลากหลายสินค้า สับเปลี่ยนไปตลอดทั้งวันทั้งคืนด้วยป้ายเดียว และแน่นอนว่า นั่นคือการ “ยกจอทีวีขนาดยักษ์” ออกมาตั้งไว้กลางแจ้ง ซึ่งทำให้รูปแบบการใช้แสงสว่างกับการโฆษณาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากแสงส่องลงไปที่ป้าย จะกลายเป็น “แสงที่ถูกส่องออกมาจากป้าย” และเคลื่อนไหว “วิบวับ” อยู่ตลอดเวลา

ถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย เราจะสัมผัสได้ถึงสีน้ำที่เปลี่ยนไป มีกลิ่นเหม็น หากมีควันพิษออกมาจากโรงงาน เราก็หายใจติดขัด มีฝุ่นควันลอยลงเกาะตามสิ่งของเครื่องใช้ เราต่างเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า “มลพิษ” ... แต่ถ้าบ้านเรือนที่พักอาศัยของเรา “ถูกรุกล้ำด้วยแสง” ไม่มีฝุ่นควัน ไม่มีกลิ่นเหม็น มีแต่แสงไฟวิบวิบที่เปลี่ยนห้องนอนของเราให้กลายเป็น ผับ บาร์ เราสามารถเรียกว่า “มลพิษ” ได้หรือไม่

อย่างน้อยนี่ก็เป็น “เหตุเดือดร้อนรำคาญ”

“ซอยทองหล่อ” แหล่งธุรกิจหรูใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้คนมากมายผ่านไปมามากมาย ย่อมเป็นทำเลทองสำหรับการแนะนำสินค้าต่างๆ ให้กับ “ผู้มีกำลังซื้อ” ซึ่งใช้เส้นทางนี้มาทำงาน กลับบ้าน มากินข้าว หรือแม้แต่มาพักผ่อนตามสถานบันเทิง ทำให้มีป้ายโฆษณาไดโอดเปล่งแสง หรือ LED (Light - Emitting Diode) ยักษ์ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 32 เมตร หรือ 256 ตารางเมตร ถูกติดตั้งอยู่บนอาคารกินพื้นที่ 6 คูหา เปิดโฆษณาหลากหลายเนื้อหาสลับไปมาทั้งกลางวันและกลางคืน ตั้งแต่ก่อนเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่มาก ทำให้แสงสว่างจากป้าย LED ขนาดยักษ์ แสดงประสิทธิภาพของมันอย่างแรงกล้า ส่องทะลุทะลวงไปยังชั้นที่ 3 และ 4 ของที่พักอาศัยฝั่งตรงข้ามของถนน 6 ช่องจราจร ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้ผู้พักอาศัยที่นั่นซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ นอนไม่หลับ มีอาการปวดศีรษะตลอดเวลา จนต้องออกมาร้องเรียนขอให้ยุติการเปิดใช้ป้าย LED



“แสงจากป้ายมันตรงมาที่ห้องนอนของเรา ของพ่อแม่เรา ซึ่งอยู่ที่ชั้น 3 – 4 เหมือนเราอยู่ในผับทุกวัน พ่อแม่เราก็นอนไม่ได้เลย ทั้งกลางวัน กลางคืน แล้วก็เริ่มปวดหัวตั้งแต่ป้ายนี้เริ่มเปิดใช้งาน”

เจี๊ยบ ผู้ซึ่งครอบครัวของเธอพักอาศัยอยู่ในซอยทองหล่อมาประมาณ 30 ปี เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอจากการ “ถูกรุกล้ำโดยแสง” และนั่นทำให้ครอบครัวของเธอและผู้พักอาศัยรวม 15 คน ตัดสินใจลงชื่อร้องเรียนกับ “สำนักงานเขตวัฒนา” เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 ซึ่งมีผลการตรวจสอบออกมาว่า “แสงจากป้าย” เข้าข่ายเป็น “เหตุเดือดร้อนรำคาญ” ให้กับที่พักอาศัยของเจี๊ยบจริงๆ โดนมีเนื้อหาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการติดตั้งป้ายโดยพลการ และป้ายได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญ

“เดิมที ตรงนั้นมันก็เป็นป้ายโฆษณาธรรมดาเป็นภาพนิ่ง แต่พอประมาณซักเดือนเมษษยน เหมือนเริ่มจะมีการดัดแปลง มีผ้าดำมาคลุมไว้ จนมาถึงช่วงก่อนเดือนสิงหาคม เขาก็เปิดผ้าออกมา กลายเป็นป้าย LED ที่ใหญ่กว่าป้ายเดิมหลายเท่า” คุณเจี๊ยบ เล่าที่มาของป้าย




หลังได้รับการร้องเรียน สำนักงานเขตวัฒนา เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ติดตั้งป้ายเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 และแจ้งมายังผู้ร้องเรียนเมื่อ 24 ส.ค. 2564 เนื้อหาใจความเดียวกัน คือ การติดตั้งป้ายดังกล่าว เป็นการดัดแปลงโครงอาคารเหล็ก (ป้าย LED) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมมีคำสั่งให้รื้อถอน ทำให้กลุ่มธุรกิจเจ้าของป้ายโฆษณาเข้ามาขอเจรจากับครอบครัวของเธอ เพื่อหาทางแก้ไขผลกระทบ โดยไม่ต้องรื้อถอนป้าย

น่าสนใจว่า การดัดแปลงอาคารโครงเหล็กของป้ายยักษ์ที่มีพื้นที่ถึง 256 ตารางเมตร แถมใช้เวลาดัดแปลงอยู่หลายเดือน ผ่านหูผ่านตาเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกคนไปได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีใครมาขออนุญาต

“เขาส่งตัวแทนมาเจรจาหลายรอบมาก เดิมทีเขาตกลงจะทำเป็นเหมือนฉากกั้นแสง มาติดไว้ที่อาคารฝั่งเรา ออกแบบมาให้เราดูเรียบร้อย ตั้งงบประมาณไว้จำนวนหนึ่ง แต่ทางฝั่งเราก็ยังเห็นว่า นั่นไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด เพราะการติดตั้งฉากกั้น ก็ทำให้บ้านเรามืด และเรายังไปค้นหาสาเหตุที่คนในบ้านเราปวดหัวกันมาก จนไปพบว่า อาจเป็นผลมาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มาพร้อมแผงไฟ LED เราจึงเสนอกลับไปว่า ถ้าจะทำฉากกั้น ก็ขอแบบที่เป็นเหล็ก เพราะเชื่อว่าจะช่วยสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากลับไป พอเราเสนอไปแบบนี้ เขาก็บอกว่า ฉากเหล็ก มันเกินกว่างบประมาณที่เขาตั้งไว้ ดังนั้นก็ตกลงกันไม่ได้”


“จริงๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการการช่วยเหลือเยียวยา หรือการแก้ไขอะไรจากเขา เราแค่ต้องวิถีชีวิตเดิมของเราคืน ชีวิตที่ไม่ต้องมาคอยหลบภัยจากแสงสว่างที่เราไม่ต้องการ ชีวิตที่พ่อแม่เรา คนในครอบครัวเรา ได้นอนหลับเป็นปกติ และไม่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อยๆ เพราะอาการปวดหัวประหลาดที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น” เจี๊ยบ กล่าวย้ำจุดยืนที่แท้จริงของครอบครัวเธอ นั่นก็คือ ต้องการให้ป้านโฆษณายักษ์แผ่นนั้น ยุติการทำงานของมัน

เมื่อตกลงเงื่อนไขการป้องกันแสงไม่ได้ ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากแสงของป้ายโฆษณา LED จึงเดินหน้าขอให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ยังสงสัยว่า ทำไมผ่านมาหลายเดือนแล้ว ป้ายโฆษณา LED ขนาดยักษ์ จึงยังคงเปิดใช้และฉายโฆษณาส่องแสงลงมายังที่พักอาศํยของเธออยู่ทุกวัน

“ช่วงแรกๆ เขาจะเปิดตั้งแต่ประมาณ 08.00 น. ถึง 20.00 น. พอมีคำสั่งเปิดเมือง ก็ขยับเวลาปิดเป็น 22.00 น. และตอนนี้เขาเปิดตั้งแต่ 06.00 น. ถึง 24.00 น. แล้ว ทั้งที่ถูกร้องเรียนและมีผลพิสูจน์แล้วว่า ป้ายโฆษณานี้ สร้างความเดือดร้อนให้เรา”


22 พ.ย. 2564 ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตวัฒนา มีหนังสือแจ้งผลดำเนินการการร้องเรียนมายังครอบครัวของเจี๊ยบ มีข้อความว่า สำนักงานเขตวัฒนาได้ตรวจสอบป้ายโฆษณา LED ดังกล่าว พบว่ามีบริษัท อควา แอด จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ และพิจารณาว่า แสงดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ประสาทตา หรือมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันต่อผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง จึงได้สั่งให้ บริษัท อควา แอด จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญนี้


แต่ก่อนหน้านั้น 3 วัน คือวันที่ 19 พ.ย. 2564 สำนักงานเขตวัฒนา ก็มีเอกสารอีกฉบับไปถึง “กรรมการผู้จัดการ บริษัท อควา แอด จำกัด (มหาชน)” เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบป้ายข้อร้องเรียนพร้อมแจ้งคำสั่งให้บริษัทหามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้แสงจากป้ายโฆษณาไปกระทบต่อสุขภาพและชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 7 วัน หากฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามคำสั่งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข

นับจาก 19 พ.ย. 2564 ไปอีก 7 วัน จะครบกำหนดตามคำสั่ง คือ วันที่ 26 พ.ย. 2564 แต่วันที่ทีมข่าวกำลังเขียนบทความชิ้นนี้ คือวันที่ 4 ธ.ค. 2564 ซึ่งผู้ร้องเรียนยืนยันว่า ป้ายโฆษณา LED ขนาดยักษ์ ยังคงเปิดใช้งานตามปกติอยู่ทุกวัน แม้จะพ้นกำหนดเส้นตายมาแล้ว 8 วัน โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ทุกวันที่ป้ายถูกใช้งานจะมีค่าปรับวันละ 1 หมื่นบาท

นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความผู้เชี่ยวชาญในการทำคดีด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากเอกสารของสำนักงานเขตวัฒนา ได้แสดงผลการตรวจสอบข้อร้องเรียนแล้ว โดยยืนยันถึง 2 ประเด็น ด้วยว่า ป้ายโฆษณา LED ได้ถูกดัดแปลงขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต และผลจากการใช้งานยังสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ดังนั้นเจ้าพนักงานท้องถิ่น จึงมีอำนาจที่จะสั่งให้ “รื้อถอนป้าย” ได้โดยไม่ต้องรอดำเนินคดี โดยเฉพาะการที่ต้องทำไปเพื่อ “ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ” เพื่อหยุดผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อน

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเอกสารจะเห็นว่า มีคำสั่งให้ต้องแก้ไขแล้ว แต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ แต่ยังไม่มีการแก้ไข และป้าย LED ยังเปิดใช้งานอยู่ทุกวัน ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปที่เจ้าหนักงานท้องถิ่นว่าเหตุใดจึงยังไม่เข้าไปบังคับใช้กฎหมาย

ทนายความชำนัญ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รายได้จากการฉายโฆษณาผ่านป้าย LED ที่ย่านทองหล่อใน 1 วัน น่าจะมีราคาสูงกว่านับเป็น 100 เท่า เมื่อเทียบกับการเสียค่าปรับเพียงวันละ 1 หมื่นบาท ดังนั้น ประเด็น “มลพิษทางแสง” จากป้ายโฆษณา LED อาจเป็นประเด็นผลกระทบรูปแบบใหม่ๆของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเมือง ที่ต้องเร่งมาดูแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป

เมื่อเข้าไปค้นหากรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับปัญหา มลภาวะทางแสง ที่เป็นภาษาไทย จะสามารถพบเอกสารโครงการวิจัยที่ชื่อว่า “คู่มือป้องกันมลภาวะทางแสง ฉบับประชาชน” เขียนโดย อาจารย์ ปิติเทพ อยู่ยืนยง ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 ในเอกสารโครงการวิจัยนี้ มีส่วนที่พูดถึง “แสงรุกล้ำ” ว่าเป็นประเภทหนึ่งของมลภาวะทางแสง หมายถึง “แสงสว่างที่ ส่องเล็ดลอดเข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัวหรือบริเวณที่รโหฐานของผู้อื่น โดยเฉพาะพื้นที่ของผู้อื่นไม่ได้ต้องการให้แสงสว่างส่องเล็ดลอดเข้ามา เป็นเหตุอันก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลอื่นที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือทำให้ เสื่อมสุขภาพของบุคคลอื่นได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคมะเร็งเต้า นมในสุภาพสตรี เป็นต้น”

ยังมีบทความวิชาการที่เขียนโดย “ศิริชนก วิริยเกื้อกูล” เรื่อง “มลพิษทางแสงจากป้ายโฆษณาดิจิทัลเรืองแสงหรือจอแอลอีดี” ได้ยกตัวอย่างผลกระทบจากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นแล้วในย่าน “จิม ชา จุ่ย” สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีปริมาณการส่องสว่างของแสงมากกว่าท้องฟ้าในยามค่ำคืนถึง 200 เท่า โดยผู้ประกอบการธุรกิจห้องเช่ารายหนึ่งระบุว่า ได้รับผลกระทบจากป้ายโฆษณา LED ที่มีขนาดเท่ากับตึก 3 ชั้น ส่องแสงมายังหอพักของเขา ทำให้ไม่มีคนมาเช่าห้องพัก แม้จัลดราคาค่าเช่าลงมาจากเดือนละ 2 แสนบาท เหลือเดือนละ 1 แสนบาท ทำให้ธุรกิจมูลค่า 900 ล้านบาทต้องประสบปัญหา

ตัวอย่างดังกล่าว และเหตุการณ์จริงที่ซอยทองหล่อ ชี้ให้เห็นว่า ค่าปรับตามกฎหมายเทียบไม่ได้เลยกับผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจป้ายโฆษณารูปแบบใหม่ ซึ่งอาจต้องแลกมาด้วยความเดือแดร้อนของพลเมืองที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไรเลย นั่นอาจจะสะท้อนว่า ประเทศไทย จะต้องเร่งศึกษาแนวทางทางกฎหมายมาจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น