สปอร์ตไล้ท์ทุกดวงฉายไปที่จังหวัดสุโขทัยอีกครั้ง เมื่อหน่วยงานระดับโลกคือ Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกาศให้เมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย เป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก ประจำปี 2021 (The 2021 Destination Top100 Sustainability Stories) เมื่อเดือนตุลาคม 2564ที่ผ่านมา
โดยก่อนหน้านี้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก(UNESCO) ประกาศว่าจังหวัดสุโขทัยเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) ประจำปี 2562 สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) โดยเป็น 1 ใน 66 เมืองจากทั่วโลก ที่ได้รับการคัดเลือกในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในเมืองไทย
และหากจำกันได้องค์การยูเนสโกได้ประกาศมรดกโลก “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” เมื่อเดือนธันวาคม 2534 ซึ่งเป็นตัวแทนแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาดและเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
ความโดดเด่นของจังหวัดสุโขทัย ไม่ได้อยู่แค่ความเป็นเมืองมรดกโลกเท่านั้น แต่ยังมีความโดดเด่นเรื่องของวิถีชีวิต เป็นเมืองที่ผู้คนเติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีการทอผ้าตีนจก การทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น งานไม้ และงานลวดลายทองคำหรือทองสุโขทัย ซึ่งมีความสวยงาม มีอัตลักษณ์ ที่ไม่เหมือนใคร มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของนักท่องเที่ยว
๐ เมืองเก่า สุโขทัย แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก ดินแดน ‘สังคโลก’ ที่ไม่ใช่ตำนาน
นับจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่26 เมษายน 2554 เห็นชอบประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร โดยมีองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ จากวันนั้น อพท. ได้ดำเนินการพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากล โดยนำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC (Global Sustainable. Tourism Criteria) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) มาใช้เป็นหลักเกณฑ์การทำงาน และยังนำเกณฑ์ GSTC มาพัฒนาเป็นเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ดำเนินงานยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษ ผลดีคือเกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ขณะเดียวกันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ได้มีสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานนำไปวางแผนการตลาดท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ
๐ ประกาศความสำเร็จสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก
เมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย เป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก ประจำปี 2021 (The 2021 Destination Top100 Sustainability Stories) ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับคัดเลือกนี้จะได้รับการประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงการเผยแพร่ข่าวสารไปยังนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลให้เกิดการรับรู้ทางการตลาดได้อย่างกว้างขวาง ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาสู่ประเทศไทย ขณะเดียวกันความสำเร็จจากการใช้เกณฑ์ GSTC มาพัฒนานโยบายหรือแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนจนได้รับการยอมรับในระดับสากลนี้ยังถือเป็นการทำงานของ อพท. ที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยว แผนย่อยการพัฒนาระบบนิเวศท่องเที่ยว ซึ่งมีตัวชี้วัดเป็น TTCI (Travel and Tourism Competitiveness Index) คือ อันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะต้องเพิ่มขึ้น
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ผลสำเร็จที่สามารถยกระดับเมืองเก่าสุโขทัย ได้เป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลกในครั้งนี้ มาจากแนวความคิดของ อพท. ที่มีเป้าหมายให้ผลจากการทำงานพัฒนาการแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนได้รับการยอมรับเป็นรูปธรรม และมีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ดังนั้นการส่งพื้นที่หรือแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานไปประกวดยังเวทีต่างๆ จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งในการทำงานของ อพท.
๐ ฟื้นชีวิตสังคโลกอย่างสร้างสรรค์
สำหรับเมืองเก่าสุโขทัย และพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พื้นที่ในความรับผิดชอบของ อพท. ในภาพจำที่ผ่านมาคือแหล่งท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ที่ประกาศโดยยูเนสโก เป็นเมืองต้นกำเนิดของอักษรภาษาไทย และเป็นเมืองแห่งเครื่องถ้วยชามสังคโลกงานหัตถกรรมประจำถิ่นที่โดดเด่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป อพท. และภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ จึงพบปัญหาว่า สังคโลกเป็นของเก่าอายุนับร้อยปี แม้จะมีผลิตขึ้นใหม่บ้างแต่ก็ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้หลากหลาย สถานะของสังคโลกจึงเป็นสินค้าซื้อเพื่อการสะสม ไม่ใช่สินค้าซื้อใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมของสังคโลกได้อย่างลึกซึ้ง หากปล่อยผ่านไปคนรุ่นใหม่และเยาวชนในท้องถิ่นก็จะไม่รู้ถึงคุณค่าอย่างแท้จริงของสังคโลก โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ศิลป์
แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อรักษาสังคโลกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม คนในชุมชนจึงได้เริ่มจากดำเนินการศึกษากรรมวิธีการผลิตภัณฑ์สังคโลกขึ้นใหม่ประยุกต์เข้ากับเทคนิคการเผาสมัยใหม่ ค้นหาช่างฝีมือในท้องถิ่นมาร่วมกันผลิต ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้กับนักเรียนแผนกช่างศิลป์ในท้องถิ่นได้เรียนรู้ สังคโลกจึงมีการผลิตสืบทอดมาต่อมา จนกระทั่ง อพท. เล็งเห็นศักยภาพและความสำคัญของเครื่องสังคโลกจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ชุมชนและท้องถิ่น สืบทอดและต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สังคโลก จัดอบรมให้ความรู้กับช่างฝีมือต่อยอดเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถไปเรียนรู้และลงมือปั้นและเขียนลายได้ด้วยตนเอง และร่วมกับชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่า สุโขทัย นำเศษสังคโลกที่แตกหักมาตกแต่งเป็นงานศิลปะบนกำแพงที่มีความยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็น Sangkhalok Street of Art จัดกิจกรรมมอบโล่รางวัลเพื่อเป็นเกียรติให้กับช่างฝีมือ ศิลปิน และผู้สืบสานสังคโลก รวมถึงภาครัฐระดับประเทศ เชิดชูผู้ผลิตสังคโลกเป็นครูช่างและลูกหลานเป็นทายาทครูช่าง ต่อมาเมื่อปี 2562 สุโขทัยได้รับคัดเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน อพท. 4 สำนักงานพื้นสุโขทัย ได้สนับสนุนให้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่น และในปี 2563 สังคโลกเป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมที่ถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษาให้กับสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ตั้งแต่ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา
๐ ดึงสังคโลกเข้าห่วงโซ่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ แบ่งเป็น 4 ด้านสำคัญคือ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม โดยด้านเศรษฐกิจ ภาครัฐส่งเสริมให้สังคโลกเข้ามาสู่ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การท่องเที่ยวเกิดการกระจายรายได้การการผลิตและขายสินค้าที่ระลึก การให้บริการกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ด้านสังคม ไม่เกิดการแบ่งแยกเพศ เพราะสังคโลกไม่ว่าหญิง ชาย เยาวชน สามารถฝึกทักษะและเป็นผู้ผลิตได้ ทำเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน ไม่กระทบวิถีชีวิต ด้านวัฒนธรรม ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองโบราณวัตถุ สังคโลก ได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม ชิ้นส่วนสังคโลกที่แตกเสียหาย สามรถนำไปประดับตกแต่งร้าน หรือทำศิลปะบนกำแพงในย่านชุมชนผู้ผลิตสังคโลก เกิดการสืบค้นพันธุ์พืชและพันธุ์ปลาที่ปรากฏบนสังคโลกว่าเป็นพันธุ์ใด จึงทำให้นอกจากจะได้เรื่องเล่า (storytelling) ให้กับผลิตภัณฑ์ ยังได้ช่วยให้เกิดความตระหนักการฟื้นฟูระบบนิเวศพันธุ์พืชและพันธุ์ปลาท้องถิ่นด้วย อีกทั้งองค์ประกอบของเมืองสร้างสรรค์ สังคโลกเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม สถานที่สำคัญได้นำเอาประติมากรรมสังคโลกมาตกแต่งใช้เป็นเครื่องประดับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผู้ผลิตและผู้ประกอบที่เกี่ยวกับสังคโลกเกิดขึ้นใหม่ ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปิดกว้าง เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยน และก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมไม่ให้สูญหายไป
การแก้ปัญหาก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่ไม่ปรับตัว จะไม่สามารถอยู่รอดได้ เกิดการเรียนรู้การตลาดในยุคใหม่ นำเอา DNA หรือรากวัฒนธรรมของสังคโลกมาต่อยอด สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มทักษะใหม่ให้มรดกวัฒนธรรมดั้งเดิมยังคงอยู่ต่อไปได้ โดยยังคงได้รับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ บุคคลท้องถิ่น หรือ ชุมชน มีบทบาทสำคัญในการผลิต สงวนรักษา และสร้างสรรค์มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในรูปแบบใหม่ จึงทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ของมนุษย์มั่งคั่งขึ้น
ปัจจุบันจังหวัดสุโขทัยมีผู้ประกอบการผลิตสังคโลกเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่เมืองเก่า จำนวนมากกว่า 10 ราย ไม่รวมผู้ประกอบการภายนอกในจังหวัดสุโขทัยที่เห็นคุณค่านำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เกิดการพัฒนาเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ที่นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้การปั้นและเขียนลายสังคโลกด้วยตนเอง จึงช่วยเพิ่มรายได้ที่นอกเหนือจากการจำหน่ายเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรูปแบบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จำนวน 6 แห่ง ไม่รวมผู้ประกอบการภายนอกในจังหวัดสุโขทัย
นอกจากนั้นรูปทรงภาชนะสังคโลกเกิดการปรับเปลี่ยน เพิ่มประโยชน์การใช้งานที่เหมาะกับชีวิตประจำวัน โดยลวดลายปลาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภาชนะดินอีกต่อไป แต่ยังปรากฏอยู่บนเสื้อ ร่ม แก้วน้ำ และของใช้อื่นๆ จึงนับเป็นการต่อยอดที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และยังเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เช่น สถานประกอบการโรงแรมท้องถิ่นนำสังคโลกมาตกแต่งบริเวณโรงแรมเป็นโคมไฟทางเดิน เพิ่มกลิ่นอายของอัตลักษณ์ดินแดนแห่งสังคโลกและยังได้สนับสนุนหัตถกรรมในท้องถิ่น เกิดเส้นทางการสืบทอดสังคโลกของเมืองเก่า สุโขทัย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จังหวัดสุโขทัย ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านขององค์การยูเนสโก ประจำปี 2562