xs
xsm
sm
md
lg

พระดำริเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” พ่อเมืองนครพนม นำทัพเดินหน้าส่งเสริมการใช้-สวมใส่ผ้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำทัพเดินหน้าส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563

วันนี้ (1 ธ.ค.) นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำทีมหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้บังเกิดผลโดยพร้อมเพรียงกันทั้งจังหวัด เป็นการสร้างวัฒนธรรมอันดีงาม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทยถ่ายรูปประชาสัมพันธ์ ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สวยงามและเป็นแหล่งข้อมูลบันทึกประวัติศาสตร์ของชาวจังหวัดนครพนมไว้มากมาย และอีกแห่งคือบ้านชนเผ่า ถนนสวรรค์ชายโขง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นบ้านไม้บ้านโบราณของแต่ละชนเผ่า จำนวน 12 หลัง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มีการประดับตกแต่งให้สวยงามตามเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของแต่ละชนเผ่าที่ได้การสอดแทรกจินตนาการ ศิลปะวัฒนธรรม มีชาวบ้านและผู้ประกอบการนำสินค้าชุมชน สินค้า OTOP มาจำหน่าย ให้นักท่องเที่ยวและคนทั่วไป ได้ ชม ชิม ซอเกแชะ แชร์ อย่างมีความสุข สนุกกับวิถีชีวิต Slow life ในบรรยากาศชิวล์ๆ ริมฝั่งโขง


ทั้งนี้ จังหวัดนครพนม ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยเชิญชวนส่วนราชการทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าพื้นเมือง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ได้แก่ วันอังคารและวันศุกร์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ จังหวัดนครพนม มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทย และผ้าพื้นเมือง ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น สร้างการรับรู้ ผ่านกิจกรรมการประชุม การจัดนิทรรศการ ประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และรวบรวมเนื้อหาสาระข้อมูลเกี่ยวกับผ้าไทย และผ้าพื้นเมือง ในพื้นที่จังหวัด จัดทำเป็นแคตตาล็อก, คลิปวีดิโอ, แผ่นพับ และหนังสือ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม ได้สรุปผลการดำเนินงานกิจกรรม “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ทอผ้า/ผลิตผ้า จำนวน 137 กลุ่ม/ราย มีรายได้ในปีที่ผ่านมาจำนวน 15,243,500 บาท และได้นำแบบลายผ้าพระราชทานไปเป็นต้นแบบทอผ้า/ผลิต มีทั้งเทคนิคการทอ ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ, ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป, ผ้าขิด, ผ้ายกดอก, ผ้าบาติก, ผ้าปักมือ และผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ มียอดรายได้จากการจำหน่ายผ้าลายพระราชทาน จนถึงปัจจุบันจำนวน 5,978,000 บาท และยอดสั่งซื้อ จำนวน 124,000 บาท และจำนวนสมาชิกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ 2,625 คน ซึ่งรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่ามในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส และช่วยสนับสนุนจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ภายใต้กิจกรรม “คนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน” อีกทั้งปัจจุบันมียังมีผู้ที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ตกงานกลับมาอยู่บ้าน ได้หันมาประกอบอาชีพในพื้นถิ่นโดยไปสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มทอผ้าและกลุ่มแปรรูปผ้า เพื่อเป็นช่างแปรรูปผ้าช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้กลุ่มผู้ประกอบการชุมชนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ บางคนมาเรียนรู้การทอผ้ากับกลุ่มทอผ้าเพื่อเป็นอาชีพหลัก ถือได้ว่าเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน


ชาวจังหวัดนครพนม รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงห่วงใยในพสกนิกร ทรงใส่พระทัยต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าในการนำลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พัฒนา ต่อยอด ผลิตภัณฑ์ แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมพื้นถิ่น อันเป็นการสร้างสรรค์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ตามวิถีเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน เสมือนได้ต่อลมหายใจให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการชุมชน สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

“ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ “ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้เป็นที่นิยม สู่สากล สามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส”