xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.สูงสุด กลับคำสั่งรับคดีชาวบ้านพับฉลากซองยาเส้น ฟ้อง สธ.ออกประกาศยาสูบเอื้อนายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปค.สูงสุด สั่งกลับคำสั่งให้ศาลปค.กลาง รับฟ้องคดีชาวบ้านอาชีพพับฉลากซองยาเส้น ฟ้อง สธ.ออกประกาศ สธ.ผลิตภัณฑ์ยาสูบเอื้อนายทุน

วันนี้ (17ม.ค.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ศาลกลางปกครองกลางรับคำฟ้องที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ 1 กับพวกรวม28คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพพับฉลากซองยาเส้น ยื่นฟ้องรมว.สาธารณสุข และ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุง พ.ศ. 2562 เนื่องจากก่อนออกประกาศสธ.ดังกล่าว ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพพับฉลากซองยาเส้น สามารถปรับขนาดของฉลากรูปภาพและข้อความคำเตือนถึงพิษภัยของยาเส้นได้ตามความเหมาะสมและผลิตโดยใช้ภาชนะบรรจุได้ตามทางเลือกของตนทำให้ชาวบ้านที่รับจ้างใช้แรงงานสามารถพับฉลากเพื่อบรรจุในซองยาเส้นโดยรับงานไปทำที่บ้านมีรายได้ประมาณเดือนละ 1 หมื่น- 2หมื่น บาท แต่ประกาศสธ.ดังกล่าวกลับกำหนด เงื่อนไขในเชิงบังคับให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามแบบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายเล็กที่เคยผลิตว่าจ้างโรงพิมพ์ผลิตซองบรรจุภัณฑ์ ในรูปแบบเดิมต้องไปว่าจ้างโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าหากไม่ดำเนินการตามแบบที่กำหนด ก็เข้าข่ายเป็นความผิด จึงเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควร และก่อนออกประกาศฯไม่ได้มีรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่เป็นเจ้าของกิจการดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า ข้อเท็จจริง ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 28 ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการผลิตยาเส้น การพับซองยาเส้น และหรือผลิตยาเส้นปรุง จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเสี่ยงได้อันเนื่องจากประกาศดังกล่าว และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 28คนได้รับนั้น ต้องมีคำบังคับของศาลปกครองโดยการสั่งให้เพิกถอนประกาศดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง อีกทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2562 กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 270 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.2563 เป็นต้นไป การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาล ในวันที่ 12 ก.พ.2563 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วยจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองกลาง เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น