xs
xsm
sm
md
lg

ไทยปรับทิศเล็งซื้อ F35 ลอยแพสามนิ้ว !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

แม้ว่าจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนนักว่ารัฐบาลไทยกำลังปรับทิศทางนโยบายต่างประเทศไปอีกระดับ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ที่ระยะหลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไป หลังจากการเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นของจีนในภูมิภาคนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ทางสหรัฐฯก็ได้ห่างหายไปจากเอเชียไปพักใหญ่เช่นเดียวกัน

แต่ฉับพลันที่ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ปะทุขึ้นมา หลังจากที่จีนอ้างสิทธิในดินแดนบริเวณนั้น ทำให้สหรัฐอเมริกาก็ต้องการย้อนกลับเข้ามาใหม่ และอย่างที่รู้กันดีว่ากำลังเล็งมาที่ประเทศไทย เนื่องจากมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคนี้

ที่ผ่านมา ไทยถือว่าเป็นเป็น “พันธมิตรที่สำคัญ” ของสหรัฐอเมริกา ในครั้งหนึ่งถึงขั้นมีความสำคัญใกล้ชิดในแบบที่เรียกว่า “พันธมิตรนอกนาโต” กันเลยทีเดียว แต่ในระยะหลังด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสหรัฐฯได้ไปให้ความสำคัญในภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป และตะวันออกกลาง เป็นเวลานาน จนห่างหายไป

ประกอบกับหลังเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายลดลงไปอีก โดยในช่วงแรกๆ สหรัฐฯงดขายอาวุธให้กับไทย ทำให้ไทยต้องหันไปกระชับความสัมพันธ์กับประเทศจีนมากขึ้น

แม้ว่าระยะหลัง ไทยกับสหรัฐฯ จะมีการปรับความสัมพันธ์มากขึ้น จนอยู่ในระดับปกติกันแล้ว แต่สำหรับรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงรักษาระยะห่างเอาไว้ในลักษณะที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์แบบสมดุล” นั่นคือ สร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งไทยมีการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งจากสองประเทศดังกล่าว

อีกทั้งประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่มีปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ไม่มีปัญหากับจีน ทำให้เราสามารถดำเนินนโยบายอย่างอิสระ สร้างพลังอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจได้ทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้วในระยะหลัง เราถูกมองว่า “โน้มเอียงไปทางจีน” มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ที่ถูกประเทศตะวันตกคว่ำบาตรมาช่วงหนึ่ง แม้ว่าระยะหลังความสัมพันธ์จะกลับมาปกติ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

แต่หากโฟกัสกันเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับสหรัฐอเมริกา ที่ต้องบอกว่าในระยะหลังไทยถูกกดดันในทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่อง “ความมั่นคง” ซึ่งหลายคนมองว่า สหรัฐฯ ต้องการกลับเข้ามามีอิทธิพลในไทยที่เป็นจุดยุทธศาสตร์หลักและต้องการคานอำนาจกับจีน ที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลทั้งในกัมพูชาและเมียนมา

ก่อนหน้านี้ หากพิจารณาในด้านการเมืองและความมั่นคง จะเห็นว่า สหรัฐฯและประเทศทางตะวันตก มีความเคลื่อนไหวในลักษณะที่ถูกมองว่า “แทรกแซงไทย” ทั้งในเรื่องการสนับสนุน “ม็อบสามนิ้ว” ให้เคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายมุ่งโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนแปลงการปกครองตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีภาพที่ปรากฏออกมาในเรื่องการเชิญแกนนำม็อบบางคนเข้าไปพบในสถานทูต และในงานเลี้ยงภายในสถานทูตหลายครั้งที่ผ่านมา

อีกทั้งบรรดาคณะทูตในประเทศตะวันหลายประเทศ ยังไปปรากฏตัวในศาล ในสถานีตำรวจระหว่างที่มีการพิจารณาคดีหรือระหว่างการสอบสวนดำเนินคดีจำเลย หรือผู้ต้องหาในคดีสำคัญ เช่น คดีความผิดตาม มาตรา 112 เป็นระยะ

อย่างไรก็ดี ในทางความสัมพันธ์ในภาพใหญ่ เช่น ในระดับระหว่างรัฐบาล กลับถือว่าดำเนินไปอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาที่ในระยะหลังพยายามเข้ามากดดันและเข้ามามีอิทธิพลในไทยอีกครั้ง และหากพิจารณาจากระดับการฝึก “คอบร้าโกลด์” ที่เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางทหาร ก็ถือว่ากลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ก็ตาม และที่ผ่านมา ทหารไทยก็ได้เดินทางไปอบรมที่ประเทศสหรัฐฯ หลายครั้ง

ขณะที่เรื่องการขายอาวุธให้กองทัพไทย หากจำกันได้เมื่อสองสามปีก่อน สหรัฐฯได้อนุมัติขาย “รถหุ้มเกราะสไตรเกอร์” จำนวนลอตใหญ่ถึง 120 คัน ในลักษณะที่เรียกว่า ลดแลกแจกแถมกันเลยทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการทยอยส่งมอบมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งไทยก็ยังคงมีความสัมพันธ์กับจีนในลักษณะที่ดีเยี่ยม ทั้งในด้านการลงทุน รวมไปถึงความมั่นคง เพราะที่ผ่านมา ไทยก็ซื้อยุทโธปกรณ์จากจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ที่ตามโครงการต้องการจัดซื้อจำนวน 3 ลำ แต่เริ่มซื้อและสั่งต่อเรือแล้วจำนวนหนึ่งลำ และจะนำเข้ามาประจำการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

อย่างไรก็ดี โครงการจัดซื้อลำที่สองและสาม ก็ได้รับการต่อต้าน แม้ว่าส่วนหนึ่งมาจากเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดระบาด แต่ส่วนสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ “เป็นเกมการเมือง” จากฝ่ายค้าน และฝ่ายที่ “โปรตะวันตก” จนทำให้ต้องเลื่อนการจัดซื้อออกไป และในปีงบประมาณปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่กองทัพเรือ ที่เป็นเจ้าของโครงการจะต้องเลื่อนออกไปเป็นปีที่สี่

แต่ที่น่าจับตาก็คือ รายการที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพิ่งอนุมัติให้กองทัพอากาศตั้งงบผูกพันเพื่อจัดซื้อ “เครื่องบินขับไล่” จำนวนงบประมาณ 13,800 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ระบุโดยตรง แต่เข้าใจกันว่าเป็นการดำเนินการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ “เอฟ35” เพื่อทดแทนฝูงบิน เอฟ16 ที่ใช้งานมานานหลายสิบปี

ลอตแรกคาดว่า สั่งซื้อเข้ามาก่อนจำนวน 4 ลำ จากเป้าหมายจำนวนทั้งหมด 8 ลำ ซึ่งจะทยอยซื้อให้ครบ โดยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการพิจารณาจัดซื้อ

แม้ว่ายังมีเส้นทางอีกยาวไกล ทั้งการสั่งซื้อที่กว่าจะนำเข้ามาประจำการต้องใช้เวลา 10-12 ปี ตามการแถลงของโฆษกกองทัพอากาศ รวมไปถึงทางสหรัฐฯ และสภาครองเกรส จะยอมขายให้ไทยหรือไม่อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี เพียงแค่ขยับเริ่มต้นก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวออกมาจากฝ่ายจีนทันที

เพราะเมื่อวันพุธที่ 12 มกราคม เพียงหนึ่งวันหลังจากที่ ครม.มีมติอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ (เอฟ35) ทางเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นายหาน จื้อเฉียง ได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร ทันที

แม้จะมีการรายงานออกมาว่าเป็นการเข้าพบเพื่อแนะนำตัวในโอกาสที่รับตำแหน่งใหม่ และกระชับความสัมพันธ์ก็ตาม แต่มันก็เป็นเรื่องน่าสังเกตตามมาจากโครงการซื้ออาวุธดังกล่าวหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็เป็นประธานการพิจารณาจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวของกองทัพอากาศ

แน่นอนว่า หากพิจารณาในทางยุทธศาสตร์ ก็อาจพิจารณาในภาพรวมได้เหมือนกันว่า รัฐบาลไทยกำลังปรับทิศทางความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกากันอีกครั้ง โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง หรือไม่ โดยพิจารณาได้จากโครงการซื้ออาวุธ ที่ไทยหันมาซื้อและพึ่งพาสหรัฐฯ มากขึ้น และที่น่าสังเกต ก็คือ การจัดซื้อของกองทัพอากาศคราวนี้ มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายค้าน หรือฝ่ายตรงข้าม “น้อยมาก” หรือเรียกว่าแทบไม่มีเลย

ขณะเดียวกัน หากมองออกมาจากฝั่งสหรัฐฯบ้าง ที่ต้องการหันมา “จูบปาก” กับรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากขึ้นกว่าเดิม หลังจากก่อนหน้านี้ ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ “ม็อบสามนิ้ว” ที่เคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างการปกครอง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทย แต่เมื่อเห็นว่ายังมองไม่เห็นอนาคตอันใกล้ อยู่ในภาวะ “ขาลง” จึงต้องสวิงกลับมาที่รัฐบาลไทยมาในแบบ “วินวิน” แต่ฝ่ายที่สะดุ้ง ก็คือ จีน ซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่า ไทยจะรักษาความสมดุลได้อย่างไร !!


กำลังโหลดความคิดเห็น