“ข่าวลึกปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 12 มกราคม 2565 ตอน จากบินรบ “เอฟ-35” ถึง “เรือดำน้ำชั้นหมิง” สะเทือน Cobra Gold 2022
เริ่มต้นปี 2565 ได้เพียง 2 สัปดาห์มีความเคลื่อนไหวของ “กองทัพ” ประเทศไทยในเรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์ เริ่มจาก “กองทัพอากาศ” โดย “บิ๊กป้อง” พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. ได้เผยถึงแผนการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 ของบริษัท ล็อคฮีท มาร์ติน ประเทศสหรัฐฯ
อ้างเหตุผลเรื่องราคาที่มีโอกาสเอื้อมถึง เพราะปัจจุบันราคาF-35 ลดลงจากเดิม ช่วงที่ออกสู่ตลาดใหม่ๆ ราคาเครื่องเปล่า 142 ล้านเหรียญต่อเครื่อง ด้วยที่ผลิตมากขึ้นทำให้ราคาลดต่ำลง ด้วยกลไกของการตลาดและการเมืองจากการรวมกลุ่มพันธมิตรทำให้ราคาลดลงเหลือ 82 ล้านเหรียญต่อเครื่อง
ขณะที่เครื่องบิน Gripen รุ่นใหม่ จากค่ายสวีเดน ราคาสูงถึง 85 ล้านเหรียญต่อเครื่อง ทำให้เครื่องบิน F-35 จึงไม่ใช่เครื่องบินที่เราเอื้อมไม่ถึง ซึ่งทาง ทอ. ต้องการให้ราคาเครื่องบิน F-35 อยู่ที่หลัก 70 ล้านเหรียญต่อเครื่อง ซึ่งต้องเจรจากับบริษัท ล็อคฮีท มาร์ติน อีกครั้ง
.
ต่อมาเกิดความเคลื่อนไหวจาก “กองทัพเรือ” หลัง “บิ๊กเฒ่า”พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ที่ประกาศ “ถอย” โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน Yuan Class S26T ลำที่ 2-3 ออกไปอีก 1 ปี จากงบประมาณปี 2566 ที่ต้องจัดทำแผนส่งกระทรวงกลาโหมไปสู่รัฐบาล เพื่อให้สภาพิจารณา
เพราะที่ผ่านมา 3 ปีงบประมาณ ทาง ทร. ต้องเสียงบไปเปล่าๆ หลังเสนอไปแล้วถูกกระแสสังคมกดดัน ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้งบจำนวนดังกล่าวต้อง “เททิ้งน้ำ” ไป จึงเท่ากับว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนถูกชะลอไปแล้ว 4 ปี
ทว่ากลับมีความเคลื่อนไหวล่าสุดจากทางการจีน ที่เสนอให้ “เรือดำน้ำ” ชั้น Ming กับ กองทัพเรือไทย เพื่อใช้ในการฝึกศึกษา เพื่อเตรียมรับเรือดำน้ำจีนลำแรก ที่เตรียมเข้าประจำการปี 2567 เพื่อเทรนด์กำลังพลที่ต้องประจำเรือ รวมทั้งไทยยังไม่มีความคืบหน้าจัดหาเรือดำน้ำจีนลำที่ 2-3
เพราะโอกาสผ่าน “ฉันทามติสังคม” และโอกาสผ่านสภานั้น จีนรู้ว่ายังเป็นเรื่องยาก
ข้อเสนอของจีนในการให้ “เรือดำน้ำ” ชั้น Ming ให้ไทยใช้ฝึกศึกษา ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาระหว่างทางการจีนกับ ทร.ไทย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จีนมีข้อเสนอเช่นนี้กับไทย และที่ผ่านมาจีนก็ “ผ่อนปรน” ให้ไทย กับการชะลอจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2-3 มาตลอดด้วย
ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือน ธ.ค.2564 ทางการจีนได้มอบเรือดำน้ำ UMS Minye Kyaw Htin ที่เป็นเรือดำน้ำชั้น Ming Type 035B แก่กองทัพเมียนมา เนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้งกองทัพเรือเมียนมา ครบรอบ 74 ปี ถือเป็นเรือดำน้ำลำที่ 2 ที่ได้เข้าประจำการในกองทัพเมียนมา หลังเคยได้รับมอบเรือดำน้ำลำแรกจากอินเดีย
.
ขณะเดียวกัน ในปีนี้ การฝึก Cobra Gold 2022 จะกลับมาในวงรอบ Heavy Year อีกครั้ง ที่จะจัดกำลังเต็มรูปแบบ ตามแผนอยู่ที่ช่วงปลายเดือนก.พ.-มี.ค.นี้ แต่อยู่ที่สถานการณ์โควิดจะทำให้เป็นไปตามแผนหรือไม่ หลังสายพันธ์ุโอมิครอนระบาดหนักหลายประเทศ
การฝึกเต็มรูปแบบ Heavy Year จะมีกำลังทหารจาก 29 ประเทศ แบ่งเป็น 7 ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกหลัก คือ ไทย สหรัฐ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย , ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ จำนวน 10 ประเทศ
ประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกอีก 10 ประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม บรูไน เมียนมา และประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 2 ประเทศ คือ จีน และอินเดีย
ดังนั้นการฝึก Cobra Gold จึงเป็น “สนามฝึกสำคัญ” ที่นำสหรัฐฯกับจีนมาเจอกันในภูมิภาค ที่เป็น “จุดยุทธศาสตร์” ของทั้ง 2 มหาอำนาจ แต่บทบาทของ “กองทัพจีน” ยังคงเป็นเพียงการทำ “โครงการช่วยเหลือประชาชน” เช่น การสร้างอาคารอเนกประสงค์ เป็นต้น
.
ทว่าหากสถานการณ์โควิดเลวร้ายขึ้น ต้องจับตาว่าจะลดขนาดฝึก โดยการลดจำนวนกำลังแต่ละชาติที่จะเข้ามายังไทย หรือต้องกลับไปฝึกระบบออนไลน์ที่มีการส่งกำลังมาไทยเพียง 600 นาย เฉกเช่นปีที่ผ่านมาหรือไม่
.
เมื่อประกอบกับสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ “ทะเลจีนใต้-ช่องแคบไต้หวัน” ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา หลังมหาอำนาจต่าง “แผ่อิทธิพล” เช่น การนำเรือรบเข้ามาพื้นที่ เป็นภาพลักษณะต่างยั่วยุกัน เป็นต้น
.
ดังนั้นการฝึก Cobra Gold ในปีนี้ ทางสหรัฐฯจึงหวัง “ปักธง” ประเทศไทยหนักขึ้น ท่ามกลางการ “แผ่อิทธิพลของจีน” ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ จึงทำให้ 2 มหาอำนาจระหว่าง “จีน-สหรัฐฯ” เข้าหาไทยหนักขึ้น และทำให้มี “ดีลใหม่ๆ” เกิดขึ้นอยู่ตลอด ตามมาด้วย
“ภูมิภาคอาเซียน” เปรียบเป็น “หลังบ้าน” ของประเทศจีน เห็นได้เด่นชัดว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทย ต่างถูก “อิทธิพลจีน” แผ่เข้าไปทั้งมิติเศรษฐกิจและความมั่นคง เหลือเพียงประเทศไทยที่ยังเป็นไข่แดงตรงกลางที่ทั้ง “จีน” กับ “สหรัฐฯ” ให้ความสำคัญอย่างมาก