xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ชี้ชะตา “เอฟ-35” เขี้ยวเล็บทัพฟ้า ตำนาน “พ่อสู่ลูก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 4 มกราาคม 2565 ตอน ชี้ชะตา “เอฟ-35” เขี้ยวเล็บทัพฟ้า ตำนาน “พ่อสู่ลูก”



นับจาก “บิ๊กป้อง”พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ตามรอยบิดา พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. ถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศ

พล.อ.อ.นภาเดช มีความคิด และแนวการทำงานที่ได้เรียนรู้มาจากคุณพ่อ ทั้งเรื่องพัฒนากองทัพและเรื่องสวัสดิการกำลังพล แต่ด้วยยุคสมัยที่ต่างกัน จึงทำให้มีปัจจัยในการตัดสินใจที่ไม่เหมือนเดิม

ล่าสุด พล.อ.อ.นภาเดช มีแนวคิดจัดหาเครื่องบินรบ F-35 ประจำการใน ทอ. ด้วยเหตุผลเครื่องบิน F-5 และ F-16 ที่ประจำการใน ทอ. มีอายุใช้งานมากว่า 35-40 ปี ด้วยเหตุนี้เริ่มมีปัญหาจึงต้องวางแผนรองรับ หากไม่มีอะไหล่ทดแทนในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาใช้แนวทางซ่อมบำรุงและโมดิฟายด์มาตลอด

ย้อนกลับไปในอดีตยุค พล.อ.อ.ประพันธ์ ขณะเป็น ผบ.ทอ. ได้มีส่วนสำคัญในการจัดหาเครื่องบิน F-16 เข้าประจำการใน ทอ. ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ทันสมัยในยุค 35 ปีก่อน

ทั้งนี้ พล.อ.อ.นภาเดช เคยเปิดเผยเมื่อครั้งมอบนโยบาย ทอ. หลังรับตำแหน่ง ผบ.ทอ. ช่วงเดือน ต.ค.2564 ว่า ตอนพล. อ. อ. ประพันธ์ อายุประมาณ 90 ปี หรือประมาณ 2-3 ปีก่อน เคยพูดว่า กองทัพอากาศควรจะเริ่มคิดที่จะมีเครื่องบินที่ทันสมัย กว่าที่เป็นอยู่ ถ้ามีงบประมาณและสามารถดูแลรักษาได้ เช่น เครื่องบินอย่าง F-35

ดังนั้นหาก พล.อ.อ.นภาเดช สามารถปูทางการจัดหาเครื่องบิน F-35 ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ก็จะเป็นอีกประวัติศาสตร์ของ ทอ. และได้เดินตามรอยคุณพ่อ เมื่อครั้งจัดหาเครื่องบิน F-16 เข้าประจำการใน ทอ. เมื่อ 35 ปีก่อน

ทั้งนี้ พล.อ.อ.นภาเดช ได้ย้ำชัดถึง “ตัวเลข” การจัดซื้อ ในราคาที่ “เอื้อมถึง” โดยราคาแรกเริ่มของเครื่องบิน F-35 อยู่ที่ 142 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 5,000 ล้านบาทต่อเครื่อง

ขณะนี้ลดลงเหลือ 82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 3,000 ล้านบาทต่อเครื่อง แต่ทาง ทอ. ตั้งใจให้ราคาอยู่ที่หลัก 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งต้องไปเจรจากับ บริษัท ล็อคฮีท มาร์ติน ประเทศสหรัฐฯ อีกครั้ง
.
พล.อ.อ.นภาเดช บอกว่า เครื่องบิน F-35 เป็นเครื่องบินที่ใช้ในระดับนานาชาติที่ใช้ในหลายประเทศ อีกทั้งเป็นเครื่องของค่ายอเมริกันที่เหมือนกับเครื่อง F-16 ที่ใช้มายาวนาน จึงตอบโจทย์เรื่องงบประมาณที่จำกัด

ขณะที่เครื่องบิน Gripen รุ่นใหม่ราคาสูงถึง 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเครื่อง จึงเล็งเห็นโอกาสของการจัดหาเครื่องบิน F-35

สำหรับ โครงการจัดซื้อ F-35 มีความตั้งใจจะเริ่มตั้งโครงการในแผนงบประมาณปี 2566 โดยจะต้องเขียนแผนเสนอโครงการช่วงต้นปี 2565 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ควบคู่กับการตั้งคณะกรรมการศึกษา เพราะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี ถึงจะได้เครื่องบิน F-35 เข้าประจำการ ทอ.

อีกสิ่งที่ พล.อ.อ.นภาเดช กังวลคือถ้าไม่รีบดำเนินการในขณะนี้ ต่อไปราคาอาจจะสูงขึ้น ดังนั้นจึงต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจในทุกประเด็น

หลังจากที่มีกระแสทอ. เตรียมของบประมาณก้อนโต ซื้อเครื่องบินรบ ฟากฝั่ง “ฝ่ายค้าน” เริ่มขยับในเรื่องนี้ทันที โดย นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย แสดงความไม่เห็นด้วย ในภาวะที่ประเทศประสบปัญหามากมาย มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาโควิด

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการใช้จ่ายในด้านอื่นๆ มากกว่าให้ ทอ. จัดซื้อเครื่องบิน F-35 หาก ทอ. เสนอโครงการจัดซื้อผ่านเข้ามาในปีงบประมาณ 2566 เมื่อเรื่องเข้าสู่สภาฯ รับรองว่าโดนตัดออกแน่นอน

จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นธรรมดาในยุคปัจจุบันที่กองทัพถูกตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณต่อการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด อีกทั้งกองทัพถูกจัดเป็นอีก “คู่ขัดแย้ง” ในทางการเมือง

หรือประวัติศาสตร์พ่อลูกอาจจะซ้ำรอย โครงการจัดซื้อเอฟ-35 จะต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านอย่างแน่นอน เหมือนสมัยพล. อ. อ. ประพันธ์ ซื้อเอฟ-16 ก็เกิดแรงต้านจากสังคมและนักวิชาการอย่างรุนแรง โดยนักวิชาการบางพวกแม้จะต้าน แต่มีข้อเสนอให้ใช้เงินงบประมาณให้คุ้นค่า เปลี่ยนจากซื้อเอฟ-16 เป็นเอฟ-20 ที่แพงกว่ามากแทน เพราะทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงกว่า

การซื้อเอฟ-16 ของกองทัพอากาศสมัยบิดาบิ๊กป้อง เป็นประเด็นสาธารณะจนมีการจัดดีเบต ออกทีวีเลยทีเดียว ในท้ายที่สุด พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี อนุมัติกองทัพอากาศซื้อเอฟ-16

ครั้งนี้ ทอ. จะต้องชี้แจงถึง “ความคุ้มค่า-เหมาะสม” ในการจัดหาเครื่องบิน F-35 นอกจากนั้นจะต้องเจอกับ “แรงเสียดทาน” ที่เป็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ เฉกเช่นที่ ทร. เคยเผชิญมา จนเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ต้องเลื่อนจัดหามาแล้ว 3 ปี เพราะหากดันทุรังต่อแรงต้าน รัฐบาลก็จะจมไปด้วยนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น