xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคม เป็นเจ้าภาพบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลั่นกรองงบรายจ่ายบูรณาการปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ประชุมกระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าภาพบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลั่นกรองงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

วันนี้ (10 ม.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะที่ 3.2 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 ที่ กระทรวงคมนาคม และผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาคำของบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งได้มีการพิจารณากลั่นกรองตามแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย ด้านนโยบาย (1) เป็นโครงการลักษณะยุทธศาสตร์ สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนฯ 13 นโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ (2) ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) และให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน Soft Side (3) เป็นโครงการตามภารกิจหลักของหน่วยงานตามยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องไม่ใช่ภารกิจปกติหรือภารกิจประจำ (4) หน่วยงานที่มีโครงการ/รายการผูกพันเกิน 1 ปี วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องนำเสนอ ครม. อนุมัติก่อนขอรับการจัดสรร (5) สนับสนุนเป้าหมายและผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะ และ (6) นำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ในปีที่ผ่านมาใช้เป็นแนวทางในการขอรับจัดสรรงบประมาณ

และด้านแนวทางการจัดทำโครงการ (1) เป็นโครงการที่สำคัญและจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องมีความพร้อมในการดำเนินงาน (2) โครงการ/รายการที่แก้ไขปัญหา บรรเทา หรือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมและเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ COVID-19 (3) โครงการ/รายการที่สนับสนุนพื้นที่ที่มีศักยภาพและเขตพัฒนาพิเศษในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการสนับสนุนจุดเชื่อม ไทย-สปป.ลาว-จีน (หนองคาย/เชียงราย) และสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศให้เข้าสู่ตลาดจีนและกลุ่มประเทศ CLMV (4) โครงการ/รายการที่สนับสนุนการลงทุนพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์ และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (5) ไม่สนับสนุนการจัดซื้อครุภัณฑ์หรือการจัดตั้งศูนย์ฯ ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายได้อย่างแท้จริง (ให้ความสำคัญครุภัณฑ์ที่สนับสนุนการพัฒนา/รองรับนวัตกรรม) และ (6) ไม่สนับสนุนงานวิจัย หรือพัฒนาบุคลากรที่ตอบสนองเพียงพื้นที่เดียว ควรมีการบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกันหลายหน่วยงาน และเป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเชี่ยวชาญสูง

นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ วงเงินรวมทั้งสิ้น 324,233.3200 ล้านบาท (สามแสนสองหมื่นสี่พันสองร้อยสามสิบสามล้านสามแสนสองหมื่นบาท) แบ่งเป็นด้าน Hard Side จำนวน 8 หน่วยงาน (ทล./ทช./จท./ขบ./ทย./กทพ./รฟม./รฟท.) 85 โครงการ วงเงิน 322,361.8297 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.30 โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา/M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี/M7 ส่วนต่อขยายเข้าสนามบินอู่ตะเภา/หมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนบางบัวทอง-บางปะอิน, โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2), โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา, พัทลุง, โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จ.กระบี่, ถนนสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร, โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นต้น
.
ด้าน Soft Side จำนวน 22 หน่วยงาน (สปค./ขบ./จท./สนข./ขร./สตช./วว./สศช./สวทช./กรมป่าไม้/กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์/กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม/กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ/กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน/กรมศุลกากร/องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก/สถาบันมาตรวิทยา/ม.นเรศวร/ม.ราชภัฏเชียงราย/ม.ราชภัฏอุดรธานี/ม.เชียงใหม่/มทร.ล้านนา) 49 โครงการ วงเงิน 1,871.4903 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.70 โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนส่งไทยสู่การขนส่งสินค้าทางถนนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน, โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง, โครงการยกระดับมาตรฐานเครื่องตรวจจับความเร็วเพื่อการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมอุบัติเหตุทางถนน, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องแม่ข่ายเพื่อรองรับภารกิจนำเข้า-ส่งออกไม้ผ่าน NSW ของประเทศไทย, โครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน, โครงการพัฒนาแบบจำลองการคำนวณต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยแบบล่วงหน้า (Predictive Model), โครงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์, และการจัดหาเครื่องชั่งน้ำหนัก และอุปกรณ์ด้านการจราจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการค้าและการบริการระหว่างประเทศ ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เป็นต้น
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวตอนท้ายว่า ได้มีข้อสั่งการและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. การพิจารณาโครงการของทุกหน่วยงาน จะต้องมีความพร้อมในทุกมิติ เมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว ต้องพร้อมดำเนินการทันที 2. ควรมีการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งผลการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อเป็นตัวชี้วัด การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานผู้ปฏิบัติ 3. ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริงและการสร้างข่าวปลอมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 4. ขอให้มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องกับโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ใช้เงินนอกงบประมาณ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการระบบราง ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
.
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ จัดทำสรุปข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ นำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 14 มกราคม 2565 ตามขั้นตอนต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น