xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.อนุมัติสภา มช.หารือชงชื่ออธิการบดี ยกคำขอทุเลา ชี้ห้ามเลือกตั้งยังฟังไม่ได้ว่าขัด กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศาล ปค.เชียงใหม่ ไฟเขียวสภา มช.ใช้วิธีปรึกษาหารือ เสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นอธิการบดี สั่งยกคำขอทุเลา ของ “อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล” กับพวก ชี้ กระบวนการออกข้อบังคับที่ห้ามใช้วิธีเลือกตั้ง-หยั่งเสียง ยังฟังไม่ได้ว่าไม่ชอบด้วย กม.

วันนี้ (7 ม.ค.) ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎ ในคดีที่ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับพวกรวม 13 คน ซึ่งเป็นอาจารย์และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ยื่นฟ้อง สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับพวก รวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ข้อ 5 วรรคสาม ที่มีสาระสำคัญว่า “ในการเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีทุกขั้นตอนให้ใช้วิธีปรึกษาหารือ และมิให้ดำเนินการโดยวิธีเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง หากปรากฏหลักฐานว่าผู้สมัครหรือผู้ถูกเสนอชื่อรายใดยอมรับวิธีการดังกล่าวให้คณะกรรมการตัดชื่อออกจากกระบวนการสรรหา และถ้ามีผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยสนับสนุนก็ให้ถือว่ามีความผิดทางวินัย” เนื่องจากเห็นว่าเป็นการตราข้อบังคับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย และขอให้ทุเลาการบังคับตามข้อบังคับนี้ มิให้นำมาใช้บังคับกับการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองเชียงใหม่ยกคำขอทุเลาดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่า การที่สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อาศัยอำนาจตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 ออกข้อบังคับดังกล่าวในชั้นนี้ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่ากระบวนการในการออกข้อบังคับไม่เป็นไปตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนด ส่วนปัญหาว่าข้อบังคับดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นในเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลต้องแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป จึงเห็นว่าข้อบังคับดังกล่าวไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาคดี ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง หากต่อมาศาลวินิจฉัยว่าเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมจะพิพากษาให้เพิกถอนกฎดังกล่าวได้ ประกอบกับการที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามข้อบังคับดังกล่าวย่อมจะส่งผลทำให้กระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ ต้องล่าช้าออกไปและจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ ตามมาตรา 66 วรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ 2542 และข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 กรณีจึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามข้อ 5 วรรคสาม ของข้อบังคับดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น