ก.ก.ถ.ประมาณการรายได้ปี 66 อปท.ทั่วประเทศ กว่า 7.4 แสนล้าน จัดเก็บเองได้ 4 หมื่นล้าน รายได้รัฐเก็บให้ 2.1 แสนล้าน เป็นเงินอุดหนุนจากรัฐ กว่า 3.6 แสนล้าน เพิ่มเฉพาะโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. และอุดหนุนภารกิจควบคุมป้องกันไฟป่า คาด “กฎหมายภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง/โควิด-19/ปิดประเทศกระทบจัดเก็บค่าธรรมเนียมโรงแรมของ อบจ.” ทำรายได้ท้องถิ่น วูบ! ไปอีก 2 ปี 65-66
วันนี้ (26 ธ.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ
ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ เสนอโดยกำหนดรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล ในอัตราร้อยละ 30
ทั้งนี้ ยังเห็นชอบประมาณการรายได้ของ อปท. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 747,000 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเอง จำนวน 40,608.81 ล้านบาท รายได้ที่รัฐเก็บให้ จำนวน 219,095.73 ล้านบาท รายได้ที่รัฐแบ่งให้ จำนวน 121,397.94 ล้านบาท และเงินอุดหนุน จำนวน 365,897.52 ล้านบาท
สำหรับการประมาณการรายได้ของ อปท. ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลปีงบ 2566 พิจารณาจากการประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) อัตราเงินเฟ้อ และข้อมูลการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปีที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้
แผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบ 2555-2568 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (22 ธ.ค. 63) มีมติเห็นชอบแล้ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศไทยในปี 2564 ว่า ค่าเฉลี่ย GDP อยู่ที่ร้อยละ 1.25 และค่าเฉลี่ยอัตรา เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.1
โดยแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบ 2565-2568 ประมาณการแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ปี 2565 ว่า ค่าเฉลี่ย GDP อยู่ที่ร้อยละ 3.5 และค่าเฉลี่ยอัตรา เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.2 และปี 2566 ว่า ค่าเฉลี่ย GDP อยู่ที่ร้อยละ 3.2 และค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ร้อยละ 1.2
สำหรับการประมาณการรายได้ของรัฐบาล และ อปท. ในปีงบ 2566 เป็นรายได้สุทธิของรัฐบาล จำนวน 2,490,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเอง ใช้ประมาณการจากรายได้ที่ อปท. จัดเก็บจริงในปีงบ 2563 เป็นฐานการคำนวณรายได้จัดเก็บเองปีงบ 2565
เนื่องจากปีงบ 2563 เป็นปีแรกที่ใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท ร้อยละ 90 ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 และ 2564 โดยคาดว่าในปี 2565 การแพร่ระบาดจะยังคงอยู่ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สถานการณ์การปิดประเทศส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยว และ อปท. มีการออกข้อบัญญัติในการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เช่น ค่าธรรมเนียมที่พักในโรงแรมของ อบจ. เป็นต้น
สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นส่งผลกระทบในการจัดเก็บรายได้ของ อปท. โดยในปีงบ 2563 มีรายได้จัดเก็บเองจริง จำนวน 35,079.42 ล้านบาท หรือลดลงจากปีงบ 2562 ร้อยละ 47.40
จึงประมาณการรายได้จัดเก็บเองของ อปท. ปีงบ 2564 จากรายได้จัดเก็บเองจริงจำนวน 35,079.42 ล้านบาท บวกกับความพยายามในการจัดเก็บภาษีร้อยละ 5 จำนวน 1,753.77 ล้านบาท รวมเป็นประมาณการรายได้จัดเก็บเองปีงบ 2564 จำนวน 36,833.39 ล้านบาท ในปีงบ 2565 จำนวน 36,833.39 ล้านบาท
และในปีงบ 2566 (ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเช่นเดียวกับปีงบ 2564-2565) โดยประมาณการรายได้ที่จัดเก็บเอง ปีงบ 2566 จำนวน 40,608.81 ล้านบาท
ส่วนรายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ปีงบ 2564 ประมาณการจากรายได้ที่รัฐจัดเก็บให้จริงปีงบ 2563 รวมกับค่าเฉลี่ยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของ 2 หน่วยงาน (ธปท. และแผนการคลังระยะปานกลางฯ) ในปีงบ 2565-66
ใช้หลักการประมาณการเช่นเดียวปีงบ 2564 และประมาณการรายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ ปีงบ 2566 จำนวน 219,095.73 ล้านบาท
โดยรายได้ที่รัฐแบ่งให้ใช้รายได้ที่รัฐแบ่งให้จริงปีงบ 2564 เป็นฐานการคำนวณปี 2565-2566 โดยนำประมาณการรายได้ ที่รัฐแบ่งให้ปีงบ 2565-2566
รวมกับค่าเฉลี่ยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของ 2 หน่วยงาน โดยประมาณการรายได้ที่รัฐจัดแบ่งให้ในปีงบ 2566 จำนวน 121,397.94 ล้านบาท
สำหรับเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ อปท. เป็นรายได้ที่จะต้องเติมให้แก่ อปท. เพื่อให้มีสัดส่วนรายได้ อปท. ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในอัตราร้อยละ 30 จำนวน 365,897.52 ล้านบาท เนื่องจากมีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ.
และแนวทางเงินอุดหนุนภารกิจควบคุมและป้องกันไฟป่า ซึ่ง สำหนักงบประมาณ (สงป.) จะต้องจัดสรรเพิ่มให้แก่ อปท. ตามประกาศ ก.ก.ถ.