“ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน” แนะ รัฐวางแผนหนุนบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมรับมือโรคใหม่ในอนาคต
วันนี้ (25 ธ.ค.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยถึงการ หารือร่วม ศบค. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม รวมถึงกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนโควิด-19 เร่งวางแผนสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ เตรียมรับมือการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
โดย นายสมศักดิ์ ระบุว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หน่วยงานและบุคลากรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรับมือโรคอุบัติใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก ภายใต้สถานการณ์ที่องค์ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามผลการศึกษาวิจัยและข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน จึงอาจพบปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องขึ้นในระยะแรก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเป็นกลุ่มบุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งต้องแบกรับภาระในการตรวจรักษา และดูแลผู้ป่วย ต้องเสี่ยงติดเชื้อ เจ็บป่วย และเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า แม้ปัจจุบันจะสามารถบริหารจัดการ ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ดี แต่เมื่อมีแนวโน้มของการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับประเทศไทยกำลังเข้าสู่เทศกาลขึ้นปีใหม่ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้ง จึงควรเตรียมพร้อมแผนรับมือด้านสาธารณสุขล่วงหน้าเพื่อให้การบริหารจัดการต่างๆ เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้หยิบยกกรณีดังกล่าวมาพิจารณา ศึกษา แสวงหาข้อเท็จจริง เร่งถอดบทเรียนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสรุปปัญหาและอุปสรรคจากการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขได้ 4 ด้าน คือ 1.ด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ แนวทางการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลในแต่ละสังกัดไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหาการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ฯ ไม่ครอบคลุมถึงบุคลากรสาธารณสุขด้านหน้าอย่างแท้จริง ปัญหาอัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอต่อภาระงาน ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าประเทศในพื้นที่เสี่ยงตามแนวเขตชายแดน ปัญหาอาสาสมัครหรือจิตอาสาที่ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ไม่เข้าสู่ระบบ และปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยและขยะพลาสติก 2. ด้านกฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปัญหาข้อติดขัดเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอนทางราชการ ในการจัดหาวัคซีน ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข และอัตราค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ความรุนแรง ปัญหาข้อจำกัดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของรัฐที่แตกต่างกัน และปัญหาข้อจำกัดของกฎหมายเกี่ยวกับการเจาะเลือด 3. ด้านงบประมาณ ได้แก่ ปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย ปัญหาภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลทางไกลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Telemedicine On Social Network) อย่างจริงจัง และปัญหาเกี่ยวกับการสนับสนุนทุนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศ 4.ด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร ได้แก่ ปัญหาการขาดศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารที่เป็นเอกภาพ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เกิดกระแสการต่อต้าน และขาดความเชื่อมั่นในแนวนโยบายของรัฐ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากข้อเท็จจริงทั้งหมดยิ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญในการเตรียมแผนรับมือสถานการณ์โรคอุบัติใหม่และโรคระบาดฉุกเฉินอย่างรวดเร็วรอบคอบ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ โดยในด้านการบริหารจัดการ รัฐโดย ศบค. ควรนำปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากระบบการบริหารจัดการเตียงของสถานพยาบาลไปถอดบทเรียน และวางแนวทางการบริหารจัดการเตียงและส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจัดทำระบบ Home Isolation ให้เป็นมาตรฐาน เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยรอเตียง เตรียมรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ หรือการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
นอกจากนี้ ศบค. ควรมีการวางยุทธศาสตร์ด้านการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและเหมาะสม โดยให้นิยามของบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าครอบคลุมไปถึงผู้ที่ให้บริการสาธารณสุขบางประเภท ซึ่งถึงแม้จะมิได้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลภาครัฐ แต่เป็นผู้ที่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น เภสัชกรประจำร้านขายยา เป็นต้น ควรวางแผนงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำระบบอาสาสมัครหรือจิตอาสาสำหรับช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้จิตอาสาเข้ามาอยู่ในระบบและเกิดการขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมและควรมีมาตรการในการควบคุมและจัดการกับปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบและหลบหนีเข้าประเทศ โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง
ส่วนด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ศบค.ควรรวบรวมข้อติดขัดด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอนของทางราชการเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด - 19 รวมถึงวัคซีนอื่น ๆ ที่จะมีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นในอนาคต และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อติดขัดดังกล่าวโดยเร็ว ศึกษาข้อติดขัดเกี่ยวกับกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ รวมถึงแนวทางปฏิบัติสำหรับการการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้เกิดความคล่องตัว ลดขั้นตอนในการดำเนินการ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์ พัสดุสำหรับการป้องกัน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาด รวมทั้งควรมีกลไกคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน หรือยารักษาที่เป็นส่วนเกินหรือหมดอายุ กระทรวงการคลังควรเร่งประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขตามอัตราใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว รวมทั้งพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีการกำหนดในอัตราไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรือคุณวุฒิ ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ในตำแหน่งใดต่างก็มีความเสี่ยงภัยเช่นเดียวกัน และควรศึกษาข้อจำกัดและวางระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลจากทุกระบบได้รับการรักษาพยาบาลเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถให้บริการการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกรายด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ป่วยใช้สิทธิการรักษาในระบบใด
สำหรับด้านงบประมาณ ศบค. ควรศึกษาหาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนกลางสำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ หรือในภาวะฉุกเฉินขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สถานพยาบาลให้การรักษาผู้ป่วยโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนั้นๆ ได้หรือไม่
นอกจากนี้ควรมีการจัดสรรงบประมาณและให้การสนับสนุนระบบการรักษาพยาบาลทางไกลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Telemedicine On Social Network) ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดงานที่ซ้ำซ้อน ประหยัดเวลา ในการรักษาพยาบาลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยด้วย และควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานวิจัยในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยสามารถผลิตวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคที่มีมาตรฐาน โดยมิต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ
สำหรับด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร ศบค.ควรจัดตั้งหน่วยหรือคณะกรรมการที่รับผิดชอบงานด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคอุบัติใหม่โดยเฉพาะ เพื่อให้มีศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน อีกทั้งควรมีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาข่าวปลอมอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน อนึ่ง ควรเน้นให้สำคัญทั้งการพัฒนาการสื่อสารกับประชาชน การสื่อสารภายในองค์กร และการสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“การรับมือโควิด-19 ของประเทศไทยผ่านมาได้ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จิตอาสา และประชาชน สิ่งจำเป็นหนึ่ง คือ การสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และการพัฒนาระบบการทำงานและสนับสนุนจิตอาสาต่าง ๆ เช่น อาสาสมัคร และพยาบาลอาสา ที่เข้ามาร่วมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤต ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเสนอต่อรัฐ ผ่าน ศบค. เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”