xs
xsm
sm
md
lg

“แอสตร้าเซนเนก้า” เผย ผลวิจัยชี้ชัดใช้เป็นเข็มบูสเตอร์ ป้องกันโอมิครอนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ)
ผลวิจัยชัด ใช้ “แอสตร้าเซนเนก้า” เป็นเข็มบูสเตอร์ ป้องกัน “โอมิครอน” ได้ หลังมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดทำการทดสอบ

วันนี้ (23 ธ.ค.) “แอสตร้าเซนเนก้า” ได้เปิดเผยผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (ChAdOx1-S [Recombinant]) เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม มีประสิทธิภาพสูงในการเพิ่มระดับแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 (B.1.1.529) สายพันธุ์โอมิครอน

พบว่า ระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นหลังการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น มีระดับสูงกว่าที่พบในผู้ที่เคยติดเชื้อและหายป่วยได้เองจากโรคโควิด-19 (สายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์กลายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา เบตา และเดลตา) โดยเซรั่มที่นำมาทดสอบนั้นมาจากผู้ที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามมาแล้วหนึ่งเดือน พบว่า ระดับการลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ข้อมูลจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ อีกการศึกษาหนึ่ง ยังบ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า มีความสามารถในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ในผู้ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวจำนวนสองโดส สามารถคงระดับการลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ แม้ว่าจะมีระดับฤทธิ์ลบล้างที่ลดลงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

ด้าน ศาสตราจารย์ เซอร์ จอห์น เบลล์ ราชศาสตราจารย์ (Regius Professor) ด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้วิจัย กล่าวว่า “การค้นพบว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบันสามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง ผลการศึกษานี้สามารถช่วยสนับสนุนแนวทางของประเทศต่างๆ ในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวลต่างๆ รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน”

ขณะที่ เซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า “วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีบทบาทสำคัญต่อโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั่วโลก ข้อมูลจากการศึกษาล่าสุดนี้ นำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การพิจารณาถึงแง่มุมอื่นๆ นอกจากแค่เพียงระดับแอนติบอดี เพื่อที่จะทำความเข้าใจประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ในขณะที่เราเข้าใจสายพันธุ์โอมิครอนมากขึ้น เราเชื่อว่า การตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อรุนแรงและป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ในระยะยาว”

แอสตร้าเซนเนก้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ในการต่อต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน โดยคาดว่าจะมีผลการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมในเร็วๆ นี้

โดยการศึกษาวิจัย ได้ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการในภูมิภาคแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ แอสตร้าเซนเนก้ากำลังทำการวิเคราะห์เลือดของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดลองระยะที่สอง/สาม เพื่อประเมินประสิทธิภาพการลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หลังการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งด้วยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนรุ่นใหม่ที่อยู่ระหว่างการวิจัย (AZD2816)


กำลังโหลดความคิดเห็น