รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มระบาดในไทย แนะคนไทยเตรียมตัว เตรียมงาน เตรียมสถานที่ เตรียมอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ และหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ จะทำให้สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาหมอ ทำฟัน ตัดผม ซื้อ ATK ติดบ้านไว้บ้าง
วันที่ 22 ธ.ค. เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า "ทะลุ 276 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 707,648 คน ตายเพิ่ม 6,686 คน รวมแล้วติดไปรวม 276,518,951 คน เสียชีวิตรวม 5,384,060 ราย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.33 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 95.93 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 58.13 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 57.73 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 2,476 คน สูงเป็นอันดับ 34 ของโลก หากรวม ATK อีก 264 คนก็ขยับเป็นอันดับ 33 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 8 ของเอเชีย อัปเดตโอมิครอน เมื่อวานนี้เดนมาร์กมีจำนวนติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์สูงถึง 13,057 คน สูงกว่าปลายปีก่อนถึง 3 เท่า ส่วนในบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ อาการหนัก และต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่ามีทั้งคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และที่ฉีดวัคซีน โดยกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีสัดส่วนถึง 70% เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชน หากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไป ต้องใช้เวลาอีกนานไหมกว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลง? นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ และมีบางคนเคยถาม
ล่าสุดมีการศึกษาที่รายงานจาก UK Health Security Agency (UK HSA) ทำการเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกเป็นแอสตร้าฯ กับกลุ่มที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกเป็นไฟเซอร์ แล้วทำการฉีดเข็มกระตุ้นทั้งสองกลุ่มด้วยวัคซีนไฟเซอร์ (mRNA vaccine) พบว่าเริ่มสังเกตเห็นผลในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาหลังฉีดเข็มกระตุ้นไปได้ตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์ โดยกลุ่มที่เคยได้วัคซีนไฟเซอร์มาก่อนในสองเข็มแรกนั้นจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มที่ได้แอสตร้าฯ
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษารายละเอียดพบว่าภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดอย่างแอนติบอดีนั้นจะเริ่มเพิ่มตั้งแต่สัปดาห์แรก ส่วนภูมิคุ้มกันระดับเซลล์คือ T-cells นั้นจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่สองเป็นต้นไป แม้การศึกษานี้จะสังเกตการติดเชื้อในช่วงที่เดลตาระบาด ไม่ได้อยู่ในช่วง Omicron แต่ก็ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับระยะเวลาที่เข็มกระตุ้นเริ่มออกฤทธิ์ช่วยในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามค้างคาว่าเข็มกระตุ้นที่ฉีดไปนั้นจะมีประสิทธิภาพคงอยู่ได้ยาวนานเพียงใด เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบครับ
สำหรับไทยเรา จำเป็นต้องเตรียมรับมือโอมิครอนให้ดี เพราะหลักฐานวิชาการจากทั่วโลกที่กำลังเผชิญการระบาดอยู่นั้น ชี้ให้เห็นว่าหากเกิดการระบาดขึ้นมาในประเทศแล้ว เอาอยู่ยาก และจะไล่ตามไม่ทัน ระบบการคัดกรองโรคจำเป็นต้องมีศักยภาพที่ทำได้ปริมาณมากและต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความต้องการยามที่ระบาดปะทุขึ้น ความเสี่ยงตอนนี้สูงมาก และเราเห็นรายงานโอมิครอนของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ การที่เราเตรียมตัว เตรียมงาน เตรียมสถานที่ เตรียมอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ไว้ล่วงหน้า และหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ ก็จะทำให้สามารถรับมือสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาหมอ ทำฟัน ตัดผม ซื้อ ATK ติดบ้านไว้บ้างก็จะเป็นการดี ที่สำคัญมากคือ ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย mRNA vaccines จะไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาก็ได้ ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว และเลี่ยงการปาร์ตี้สังสรรค์คริสต์มาสและปีใหม่ ฉลองกับคนในครอบครัวที่บ้านจะปลอดภัยกว่าครับ ด้วยรักและห่วงใย"
คลิกโพสต์ต้นฉบับ