xs
xsm
sm
md
lg

คนรับผิดชอบ? เปิด 14 บิ๊ก ขรก.เอี่ยวลดโทษ คณะทำงาน ปชช.พบหลักฐานลดโทษมิชอบ? เฉลย “สรยุทธ” เงียบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ เปิดชื่อ 14 บิ๊ก ขรก.เอี่ยวลดโทษ! ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ผ่านไปได้อย่างไร? เปิดชื่อ 14 บิ๊ก ขรก.เอี่ยวลดโทษ! คณะทำงาน ปชช.ได้หลักฐานเด็ด พบขออภัยโทษมิชอบ? เฉลย เหตุ “สรยุทธ” เงียบ ไม่กล้าเล่นข่าว ลดโทษผิดปกติ จับตา 30 วัน นายกฯ ตั้ง คกก.ตรวจสอบ มวยล้มหรือไม่

น่าสนใจเป็นอย่ายิ่ง วันนี้ (17 ธ.ค. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น เปิดชื่อ 14 บิ๊ก ขรก.เอี่ยวลดโทษ! ขณะที่ คณะทำงาน ปชช.ได้หลักฐานเด็ด พบขออภัยโทษมิชอบ?

โดยระบุว่า นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปมของการลดหย่อนโทษ ว่า

3+2+9 ข้าราชการผู้เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการราชทัณฑ์ เรื่องการลดหย่อนผ่อนโทษชนิดฉลองปิดห้างนี่ มีคนร่วมกันเป็นโขยง ตั้งแต่ เจ้าพนักงานเรือนจำ ผู้บัญชาการ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่มีผู้แทนหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน (2+9 ) ดังนี้

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรงงยุติธรรม เป็นประธาน
2. ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง
3. ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
4. ปลัดกระทรวงมหาดไทย
5. ปลัดกระทรวงแรงงาน
6. ปลัดกระทรวงศึกษาฯ
7. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
8. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
9. เลขาธิการสำนักงานยุติธรรม
10. อัยการสูงสุด
11. เลขาธิการสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สิริรวม 14 ท่าน ที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้น สนุกสุดเหวี่ยงกันเลยทีเดียวครับ พิจารณาแล้วเหมือนจะสิ้นหวัง แต่ก็นั่นแหละอย่าหมดหวัง นี่คือเหตุผลว่า สุดท้ายปลายทางของเรื่องนี้ ถ้าไม่ได้เรื่องคงต้องถวายฎีกากัน

ด้าน พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า

ทีมงานคณะทำงานประชาชนได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่ามีการประพฤติมิชอบเกี่ยวกับกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นอย่างมาก มีการเลือกปฏิบัติเป็นพิเศษแก่นักโทษที่เป็นนักการเมือง หรือเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือผู้มีเศรษฐฐานะทางสังคม มีฐานะทางการเงิน มีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ

การเลือกปฏิบัติเช่นนี้ ถือเป็นการประพฤติไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การพิจารณาที่ผ่านไปแล้วย่อมต้องถือเป็นโมฆะ จะปล่อยให้เลยตามเลยไม่ได้ครับ กรณีเช่นนี้กฎหมายต้องสามารถบังคับย้อนหลังได้ จะอ้างว่าย้อนหลังไม่ได้ ความยุติธรรมก็จะไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ ความสงบสุขเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติก็จะไม่คืนกลับมานะครับ
อย่าเพิ่งสิ้นหวังว่ากฎหมายไม่สามารถมีผลบังคับย้อนหลัง หากประชาชนผู้รักความยุติธรรมพร้อมใจกัน รวมพลังกันกดดันให้ผู้มีอำนาจดำเนินการให้กฎหมายสามารถย้อนหลังการบังคับเพื่อคืนความยุติธรรมด้วยการคืนจำนวนปีที่ถูกลดหย่อนไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือเป็นโมฆะแล้วให้กลับคืน…พลังแผ่นดินต้องเตรียมพร้อมเรียกร้องกดดันกันนะครับ เราจะไม่ปล่อยให้เลยตามเลยกันนะครับ...

ภาพ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ขณะเดียวกัน THE TRUTH ยังโพสต์ประเด็น เฉลยแล้ว สาเหตุ “สรยุทธ” เงียบ หลังนักเขียนชื่อดัง จับพิรุธ ทำไมไม่กล้าแตะต้อง เล่นข่าวปมอภัยโทษผิดปกติ!?

เนื้อหาระบุว่า หลัง นายปฏิพล อภิญญาณกุล นักเขียนชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Padipon Apinyankul ระบุว่า

“#ยุติธรรมอำพราง
เรื่องการลดโทษให้นักการเมืองทุจริต (โกงข้าว) รวมถึงข้าราชการทุจริต และบุคคลที่ร่วมทุจริตต่อเงินแผ่นดิน ..

เรียกง่ายๆ คือ การรวมหัว “คอร์รัปชั่นภาษี” ของประชาชน ..ได้กลายเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งควรแก่การปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบไปแล้ว..

รมต.ยุติธรรม..เป็นบุคคลที่ถูกสังคมเพ่งเล็ง อย่างช่วยไม่ได้ เพราะการขอลดหย่อนโทษ การส่งรายชื่อบุคคลให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ มีคนที่สามารถทำเรื่องยื่นส่งขอได้แค่ไม่กี่คน..หนึ่งในนั้นคือ รมต.ยุติธรรม

ปัญหาที่ผู้คนสงสัยคือ..
ใช้กฎเกณฑ์อะไร ในการพิจารณาว่า นักโทษคนไหนสามารถขึ้นชั้น ยกระดับเป็น
ดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใช้ ธรรมดา ..

คำถามคือ .. ทำไม ? ตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน .. ถึงค้ำประกันความโปร่งใส ต่อกรณีการลดโทษครั้งนี้ไม่ได้ ?

ความสงสัย เกิดมาจากความเป็น “นักการเมือง” ของนายสมศักดิ์ เอง ..

เขาเป็นนักการเมืองผู้ช่ำชองสารพันกระบวนท่า.. ผู้ซึ่งถนัดการเป็นฝ่ายรัฐบาล มากกว่าฝ่ายค้าน.. ในอดีตนั้นร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยมาได้อย่างราบรื่น

นายสมศักดิ์ เคยอยู่กับพรรคไทยรักไทย ร่วมรัฐบาลกับนายทักษิณมาหลายสมัย.. ก่อนที่จะออกมาตั้งกลุ่มของตัวเอง

โดยส่วนตัวเชื่อว่า นายสมศักดิ์ เป็นนักการเมืองระดับเทพ ย่อมมีความสัมพันธ์กระจายไปยังทุกกลุ่ม.. รวมถึงนักโทษการเมืองข้างในคุก ย่อมรู้จักอยู่บ้าง

อย่างน้อยก็เคยมี “เจ้านายเก่า” ร่วมกันมาก่อน เมื่อมานั่งโต๊ะกับกรรมการพิจารณาลดโทษ มันดูแล้วย่อมเกิดความไว้ใจน้อยลง

ความสงสัยก็เลยพุ่งเป้า ว่า.. นายสมศักดิ์ รมต.ยุติธรรม เอื้อต่อการลดหย่อนโทษด้วยหรือไม่? แปลกยิ่งกว่าคือ ในช่วงเวลา 1 ปี 4 เดือน (2563-2564) มีการลดโทษให้ 4 ครั้ง
รวมๆ ประมาณลดโทษไป 43 ปี.. เร็วๆ นี้ ก็จะออกจากการ “พักร้อน” กันมาแล้ว

เรื่องนี้ ทำไมคนทำข่าว คุ้ยข่าว กันน้อยมาก ถ้าให้ดีควร “เจาะข่าว” สืบเสาะหาตัวกรรมการพิจารณา มาสอบถามกัน

ยิ่งน่าแปลกกว่า ก็คือ คนข่าวที่คุ้นเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับคุก เกี่ยวกับวันลดหย่อยโทษ ซึ่งสามารถล้วงข้อมูลได้ลึก.. เฉกเช่น นายสรยุทธ นักเล่าข่าวชื่อดัง..
.. กลับไม่เล่นข่าวนี้ ?”

ภาพ เฉลย เหตุ “สรยุทธ” เงียบ ไม่กล้าเล่นข่าว ลดโทษ ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบประเด็นการพักโทษของนายสรยุทธ ซึ่งอธิบดีราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงไว้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 ว่า ไม่ได้ใช้ 2 มาตรฐานในการปล่อยตัวนักโทษ และกรณีของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ก็ถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง โดยการพัก การลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โครงการพักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษระยะสั้นที่ นายสรยุทธ ได้รับ เป็นโครงการสำหรับนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป จำคุกครั้งแรกที่ได้รับโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และเหลือโทษที่ต้องได้รับต่อไปอีกไม่เกิน 5 ปี

ซึ่งในขณะพิจารณาการพักการลงโทษ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีกำหนดโทษตามคำพิพากษา 6 ปี 24 เดือน ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 ทั้ง 2 รอบ คงเหลือโทษจำคุกครั้งหลังสุด 3 ปี 6 เดือน 20 วัน เมื่อหักวันต้องโทษจำคุกมาแล้ว จึงเหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 2 ปี 4 เดือน 14 วัน จึงถือว่ามีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ และได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว

และเกณฑ์ในการการพักการลงโทษ ที่นายสรยุทธได้รับจะมีดังนี้
- เป็นนักโทษเด็ดขาด
- ชั้นเยี่ยม เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3
- ชั้นดีมาก เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 4
- ชั้นดี เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน

เมื่ออยู่ในเกณฑ์พักการลงโทษแล้ว นักโทษเด็ดขาด แจ้งสถานที่พักของตนเอง ให้ผู้คุมไปเยี่ยมเยียนดูได้ และต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุกเดือน โดยที่ผู้ถูกคุมประพฤติ จะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อ ที่กำหนดไว้หากประพฤติผิดเงื่อนไข จะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำตามเดิม และจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย เงื่อนไข 8 ข้อ มีดังนี้

1. จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ
2. ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต
3. ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก
4. ประกอบอาชีพโดยสุจริต
5. ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา
6. ห้ามพกพาอาวุธ
7. ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ
8. ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน
ถ้าผู้ได้รับการปล่อยตัว ประพฤติตนตามเงื่อนไขด้วยดีตลอด ก็จะได้รับใบบริสุทธิ์ และพ้นโทษไปตามคำพิพากษา เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติสืบต่อไป

และเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 ก.ค. มีผู้ต้องขังจากเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ เข้าเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัว จำนวน 35,000 คน ซึ่งขณะนี้ทุกเรือนจำอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อผู้ต้องขังที่อยู่ในเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพื่อส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษพิจารณาก่อนปล่อยตัว

ครั้งนี้มีคนดังที่เข้าเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษกรณี เป็นผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ คือ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้รับพระราชทานอภัยโทษมาแล้ว 2 ครั้ง และเข้าเงื่อนไขการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ จึงได้รับการติดกำไลอีเอ็ม เป็นเวลา 14 เดือน และต้องรายงานตัวจนกว่าจะพ้นโทษคือ วันที่ 26 ก.ค. 66 และได้รับการปลดกำไลอีเอ็ม หลังพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 ก.ค. 2564 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นของการพักโทษนายสรยุทธนั้น สุดท้ายแล้วได้รับการพ้นโทษก่อนกำหนด เพราะมีคุณสมบัติเข้าข่ายผ่านเกณฑ์ เพราะช่วงที่อยู่ในเรือนจำได้มีการช่วยจัดรายการ เรื่องเล่าชาวเรือนจำ ให้ความรู้นักโทษช่วงที่โควิดระบาด จนทำให้สถานการณ์ในเรือนจำดีขึ้น ทั้งนี้ ได้อนุญาตให้ประกอบอาชีพสุจริตได้ และเจ้าตัวก็กลับมาทำรายการข่าวดังเดิม ทำให้น่าตั้งข้อสังเกตว่า การไม่เล่นข่าวปมอภัยโทษคดีโกงจำนำข้าวนั้น ทั้งการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว และจัดรายการข่าว อาจจะเป็นเพราะเจ้าตัวได้การถอดกำไล EM และได้รับการพ้นโทษก่อนกำหนดแล้ว

ภาพ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พ้นโทษ ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วันนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 337/2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ สั่ง ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2564

นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ซึ่งในที่นี้คือพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ดังนี้

(1) นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุดและประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ (2) นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กรรมการ (3) นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ กรรมการ (4) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ (5) พลเอก ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ กรรมการ (6) นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ (7) นายวิทยา สุริยะวงค์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ และ (8) นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการ และเลขานุการ

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการดังกล่าว มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นมาและการดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติในการขอรับพระราชทานอภัยโทษและการกำหนดชั้นนักโทษของกรมราชทัณฑ์ เพื่อป้องกันมิให้นักโทษเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับตามกฎหมายและอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อดำเนินการเฉพาะเรื่องตามที่คณะกรรมการมอบหมาย โดยให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการในการชี้แจงข้อมูล ส่งเอกสาร ตลอดจนการดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

และประธานกรรมการรายงานผลการตรวจสอบ พร้อมกับข้อเสนอแนะ หรือแนวทางการแก้ปัญหาที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อนายกรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งฉบับนี้

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การพบหลักฐานเด็ดของคณะทำงานประชาชน ของ หมอเหรียญทอง น่าจะเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อคณะกรรมการชุดนี้ รวมทั้งพยานหลักฐานที่เคยมีการร้องเรียน กรณีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บางคนเรียกรับเงินค่าเลื่อนชั้นนักโทษ และอภัยโทษ ที่เคยร้องเรียนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่เรื่องก็เงียบ รวมทั้งหลักฐานอื่นที่อาจอยู่ในมือของหลายคน ฯลฯ

นอกจากนี้ การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบครั้งนี้ อาจเป็นดาบสองคม กับพล.อ.ประยุทธ์ได้เหมือนกัน เพราะอย่าลืมว่า เรื่องนี้ถูกยกระดับสู่การเอาจริง กัดไม่ปล่อยของ คณะทำงานประชาชน ของ หมอเหรียญทอง เรียบร้อย นั่นหมายถึงว่า จะทำไปเพราะมีกระแสสังคมเรียกร้องเท่านั้นไม่ได้ หากแต่ต้องได้ทั้งคนรับผิดชอบ ได้ทั้งการเปลี่ยนแปลง ผลการลดโทษหรือ อภัยโทษ? รวมทั้งแนวทางแก้ไขทั้งหมดด้วย

หาไม่แล้ว ก็จะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไร้ฝีมือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ และถูกมองจากฝ่ายที่หนุนรัฐบาลเอง ว่าไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป ไม่เชื่อคอยดู!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น