หลักฐานเด็ดเริ่มโผล่! แฉขบวนการส่วยช่วยลดโทษ? พบอดีต ผตข.เพิ่งร้องเรียน จนท.เรียก 2 ล้าน เลื่อนชั้น-เผยจ่ายมากพ้นคุกเร็ว “วัชระ” ไล่บี้ยกแผง ยื่น ป.ป.ช.สอบ “สมศักดิ์” ผิดจริยธรรม จี้ถามยกเลิกไม่ลดโทษทุจริตตอนไหน
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 ธ.ค. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น เปิดลึกส่วยช่วยลดโทษ? พบอดีต ผตข.เพิ่งร้องเรียน จนท.เรียก 2 ล้าน เลื่อนชั้น-อภัยโทษพ้นคุกเร็ว
โดยระบุว่า สืบเนื่องจาก แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา กรณีลดโทษของกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 64 คุณหญิง พรทิพย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมีอยู่ทั้งท่อนต้น คือ งานตำรวจ และท่อนปลาย คือ ราชทัณฑ์ น่าเสียดายที่การขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้งสองเรื่องไม่ได้มีในแผนปฏิรูปประเทศ เรื่องของตำรวจยังคงเน้นเรื่องการแต่งตั้งการเลื่อนขั้นที่อยู่ในชั้นการพิจารณาร่วมของ ส.ว.และ ส.ส. มีชิงไหวชิงพริบตลอดเวลา
ในส่วนราชทัณฑ์ต่อประเด็นเรื่องการลดโทษนักโทษโกงแผ่นดิน เป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียว หากข่าวว่า นายกฯตอบอย่างไรเป็นเรื่องจริง ข้อนี้น่าเป็นห่วงยิ่ง การปฏิรูประบบราชทัณฑ์ต้องมองทั้งระบบ
ระบบตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้เสนอรายชื่อนักโทษที่จะได้รับการลดโทษ เพราะมีข้อมูลเล็ดลอดมาว่า นักโทษร้ายแรงบางคนได้รับโอกาสจากการทำผัดไทยอร่อย ประเด็นนี้มีเรื่องส่วยซ่อนอยู่แน่นอน คงไม่มีแค่ผัดไทยอร่อย”
โดยความน่าสนใจจากที่หมอพรทิพย์ ออกมาพูดนั้น มีเรื่องส่วย ซึ่งสอดคล้องกับเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 64 ที่ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีการลดโทษให้กับนักโทษช่วงหนึ่งกล่าวถึงข่าวการเรียกเงิน ด้วยว่า
“กรณีการลดโทษผู้ที่ถูกลงโทษจำคุก แต่ได้รับโทษน้อยกว่าโทษตามคำพิพากษามากมายที่สังคมกล่าวถึงโวยวายกันอยู่ในปัจจุบันนั้น เกิดจากปัญหา 2 ประการ คือ
การกำหนดชั้นของนักโทษ ว่าเป็นนักโทษชั้นไหน คือ ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี และชั้นกลาง นั้น มีหลักเกณฑ์อย่างไร และใครเป็นผู้กำหนด เพราะในแต่ละชั้นของนักโทษจะได้รับการลดโทษต่างกันมาก กรณีนี้โอกาสที่ผู้มีหน้าที่อาจมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องได้ ดังที่เคยมีข่าวมีผู้ร้องเรียนว่า มีเจ้าหน้าที่เรือนจำเรียกร้องเงินเพื่อเลื่อนชั้นนักโทษ แต่ข่าวดังกล่าวก็เงียบหายไป”
นั่นเองที่ทำให้ทีมข่าวเดอะทรูธ ได้ตรวจสอบถึงข่าวสาร ว่า เคยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็พบว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 64 นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อม นายจำรัส อดีตผู้ต้องขังคดีฆ่าคนตาย ซึ่งเคยถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงเดือนเมษายน 2564 ที่เพิ่งพ้นโทษมา พร้อมหลักฐานการโอนเงินข้อความแชตพูดคุยต่อรองเรียกรับผลประโยชน์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป.
“หลังจากในช่วงระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นายหนึ่ง อ้างว่า สามารถเลื่อนชั้นหรือลดชั้นและได้สิทธิการอภัยโทษลดจำนวนการจำคุกได้ แต่ต้องจ่ายเงินให้เป็นค่าตอบแทนครั้งละหลักหมื่นบาทถึงแสนบาท โดยอ้างว่าจะต้องนำไปจ่ายให้กับเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ และคณะกรรมการพิจารณา
โดย นายจำรัส ยินยอมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้หลายครั้ง รวมมูลค่ามากกว่า 2 ล้านบาท โดยมีทั้งที่จ่ายเป็นเงินสดและที่เป็นการโอนเงินจากญาติมาให้อีก 5 ครั้ง ซึ่งในระหว่างการถูกคุมขังอยู่นั้น ก็มีการถูกเลื่อนชั้นและลดชั้นอยู่บ่อยครั้ง โดยสอดคล้องกับการจ่ายเงินในแต่ละครั้ง หากไม่ยอมจ่ายให้ก็จะถูกลดชั้น โดยอ้างว่าทำเรื่องไม่ถูกต้อง หรือไม่เข้าเกณฑ์ตามระเบียบ หากจ่ายให้ตามที่ต้องการก็จะได้รับการเลื่อนชั้น หรือ อภัยโทษ พักนี้มีผู้ต้องขังที่ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นายดังกล่าวหลายคน
บางคนที่ยอมจ่ายเงินให้ตามที่เรียกรับก็ได้รับการพ้นโทษเร็วกว่า โดย นายจำรัส มีโทษจำคุก 23 ปี 4 เดือน แต่จำคุกจริงเพียงแค่ 5 ปี ส่วนผู้ต้องขังรายอื่นที่จ่ายเงินให้กลับพ้นโทษได้เร็วกว่าตัวเองทั้งที่โทษจำคุกมากกว่า
ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการเรือนจำให้ตรวจสอบแล้ว แต่เรื่องก็เงียบหายไป กระทั่งได้ทำเรื่องไปถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งทางกระทรวงได้รับเรื่องแล้วแต่เรื่องก็เงียบหายไปอีก ทั้งที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นายดังกล่าวก็รับสารภาพในขั้นตอนการสอบสวน จึงเข้าร้องเรียนกับนายอัจฉริยะ และเข้าแจ้งความให้ช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะคิดว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่คนเดียว และอาจมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในระดับเรือนจำและกระทรวงเกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก
เรื่องดังกล่าวทำให้กระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ผล และทำให้เกิดผู้กระทำความผิดออกมาก่อเหตุซ้ำเป็นจำนวนมาก”
ขณะเดียวกัน THE TRUTH ยังโพสต์ประเด็น ไล่บี้ยกแผง! “วัชระ” ยื่น ป.ป.ช.สอบ “สมศักดิ์” ส่อผิดจริยธรรม ลดโทษให้คดีโกงชาติ
เนื้อหาระบุว่า หลังจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกระแสที่ถูกกดดันให้ลาออกหลังเสนอการลดโทษผู้ต้องขังคดีทุจริต ว่า การเมืองก็เป็นแบบนี้เวลาที่เราทำอะไรที่ดูดีมีราคา
ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้แล้ว และตนไม่อยากให้สัมภาษณ์ก่อน เพราะจะเกิดความสับสนในรายละเอียด เพราะเรื่องพระราชกฤษฎีกามีรายละเอียดมากและหลายขั้นตอน อีกทั้งตนไม่มีพื้นทางกฎหมาย พูดไปจะทำให้เกิดความสับสน
เมื่อถามว่า ครั้งนี้โดนการเมืองเล่นงานหรือเปล่า นายสมศักดิ์ ได้ยกมือ 2 ข้างขึ้นมาโบกปฏิเสธ พร้อมกล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มีกระแสข่าวว่า การเสนอการลดโทษครั้งนี้ มีการพูดคุยกับคนแดนไกลและพรรคเพื่อไทย นายสมศักดิ์กล่าวว่า ผมเป็นคนตรงไปตรงมา เรื่องแบบนี้ต้องทำอะไรที่ตรงไปตรงมา
ล่าสุด นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ยื่นหนังสือผ่าน นายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวน ถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เสนอลดโทษชั้นเยี่ยมให้นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าวว่าผิดกฎหมายอื่นใดหรือผิดจริยธรรมหรือไม่
โดยทั้ง 2 คน ใช้กลไกทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ดำเนินการบริหารโทษ (ลดโทษ) กับบุคคลที่ได้รับการลงโทษตามคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวคือ นายภูมิ สาระผล จากโทษจำคุก 36 ปี ล่าสุดเหลือวันต้องโทษ 8 ปี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กำหนดโทษจำคุก 48 ปี ล่าสุดเหลือวันต้องโทษ 10 ปี นายมนัส สร้อยพลอย กำหนดโทษจำคุก 40 ปี ล่าสุดเหลือวันต้องโทษ 8 ปี และ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) กำหนดโทษ 48 ปี ล่าสุด เหลือวันต้องโทษ 6 ปี 3 เดือน ตามที่เป็นข่าวดังและกำลังถูกกระแสสังคมต่อต้านอย่างหนักอยู่ในขณะนี้
“การกระทำของ นายสมศักดิ์ และ นายอายุตม์ ส่อว่าผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหรือกฎหมายอื่นใด และหรือจริยธรรมของข้าราชการหรือไม่ เนื่องจากเป็นที่สงสัยค้างคาหัวใจของประชาชนผู้รักความยุติธรรมทั้งประเทศ กระทบกระเทือนต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม และกระบวนการยุติธรรมทั้งประเทศ จึงขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อพิจารณาสอบสวนว่าเป็นการกระทำที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนผิดกฎหมายอื่นใดหรือไม่ และส่อว่าผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีข้อต่างๆ ต่อไปนี้หรือไม่”
อาจผิด ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
ข้อ 12 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้อ 13 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติโดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ
ข้อ 17 ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง
ข้อ 21 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคํานึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
ที่ผ่านมา ในสมัยที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็น รมว.ยุติธรรม เคยมีนโยบายว่า ไม่ลดโทษให้กับคดีทุจริต แต่ในยุคนี้เพราะเหตุใดกระทรวงยุติธรรมจึงเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในทางที่เป็นคุณต่อนักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างสิ้นเชิง
ตนเป็นอดีต ส.ส. 2 สมัย ได้รู้จักนักการเมืองที่ถูกจำคุกทุกคน แต่เรื่องหลักการแห่งความยุติธรรมจะนำเรื่องส่วนตัวมาละเว้นไม่ได้ ถ้าบรรดานักการเมืองที่ถูกจำคุกได้ลดโทษชั้นเยี่ยมแล้ว ลูกหลานคนจนที่ถูกจำคุกนับแสนคนก็ควรได้ลดโทษชั้นเยี่ยมเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ไม่ได้ว่ารัฐมนตรีทำผิดกฎหมายหรือจริยธรรม แต่ประชาชนสงสัยในเรื่องนี้ทั่วทั้งสิบทิศ จึงต้องมายื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ให้ช่วยสร้างความกระจ่างให้กับสังคม ถ้ากรมราชทัณฑ์อ้างว่าศาลมีหน้าที่ลงโทษจำคุก ส่วนกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่บริการโทษ (ลดโทษ) ถือเป็นเป็นคำพูดที่ไม่มีเหตุผล กรมราชทัณฑ์จะมีอำนาจเหนือคำพิพากษาของศาลได้อย่างไร
ทั้งนี้ ขอให้ ป.ป.ช. เชิญ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาให้ข้อมูลว่ามีการแก้ไขกฎระเบียบลดโทษให้นักโทษคดีคอร์รัปชันเกิดขึ้นในสมัยใด มีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง และให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยานเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ความเป็น “แดนสนธยา” ของกรมราชทัณฑ์ หรือ กรมคุก ที่เรียกกัน และการปล่อยปละละเลยของผู้บริหารกระทรวง ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับราชทัณฑ์ ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง นี่มองในแง่ดี ว่า รัฐมนตรีอาจบริหารงานผ่านข้าราชการเป็นหลัก และไว้ใจข้าราชการเกินไปหรือไม่ จึงปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งถ้ามองในแง่ร้าย ก็ต้องคิดว่า มี “ขบวนการ” ตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับบน เพียงแต่บนแค่ไหนเท่านั้น
ประการต่อมาที่หลายฝ่ายหยิบมาเป็นประเด็นอย่างสอดรับกัน ก็คือ การพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษ เพื่อลดโทษ และอภัยโทษ เพราะเรื่องนี้สามารถมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนได้ เนื่องจากเป็นแดนสนธยาดังกล่าว และก็มีข่าว มีเรื่องร้องเรียนเป็นหลักฐานชัดเจนว่า มีการเรียกรับเงิน มีส่วย อยู่จริง ทั้งยังมีจำนวนเงินที่เรียกรับออกมาเปิดเผย
นั่นแสดงว่า สิ่งที่สังคมสงสัย และต้องการความชัดเจนนั้น มีแล้ว เพียงแต่คนที่มีอำนาจจะจัดการอย่างเด็ดขาดเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการไต่สวนของ ป.ป.ช.จะดำเนินการอย่างไรหรือไม่
อีกประการที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ การยกเลิกนโยบาย ไม่ลดโทษให้กับนักโทษคดีทุจริต ที่เคยมีสมัย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ก็นับว่าน่าสนใจ เพราะถือว่า ยังอยู่ในยุค คสช. เรืองอำนาจ และ คสช.ก็ประกาศที่จะเข้ามาสู้รบกับการทุจริต จนกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง (2560) แต่เหตุใด จึงสวนทางกับนโยบาย คสช.เสียเอง เรื่องนี้ต้องมีคำตอบให้กับประชาชน ไม่เช่นนั้น คนใหญ่คนโตในรัฐบาลต้องรับผิดชอบ
ทั้งหมด ล้วนเป็นช่องว่างให้มีขบวนการหากินกับนักโทษคดีทุจริต และคดีร้ายแรงทั้งหลายได้ทั้งสิ้น และน่าจะมีผลประโยชน์มหาศาล เพราะเงินจ่ายส่วยของคนพวกนี้เรื่องขี้ประติ๋วอยู่แล้ว? ซึ่งหลายคนอาจมีเงินเก็บสะสมเอาไว้มากมายที่มือกฎหมายเอื้อมไม่ถึง?
ดังนั้น ดูเหมือนการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง หรือ ปลายเหตุ จะเป็นเรื่องผักชีโรยหน้าเสียมากกว่า เพราะถ้าดูจากข้อมูล และหลักฐานที่มีการแฉออกมา มันถึงขั้นที่จะต้องผ่าตัดรื้อกรมคุกทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ ถ้าต้องการแก้ปัญหาให้สะเด็ดน้ำ ไม่เช่นนั้น แดนสนธยา ก็จะยังเป็นแดนสนธยาของการหากินกับนักโทษ และไม่ยุติธรรมกับนักโทษยากจนอยู่เช่นเคย ไม่เชื่อคอยดู!!!