วันนี้ (13 ธ.ค.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ว่า ผมได้เห็นข่าวที่พี่น้องประชาชนตลอดจนนักการเมืองจำนวนหนึ่ง ออกมาเรียกร้องให้มีการลดโทษของคดีทุจริตจำนำข้าว ว่า ไม่ยุติธรรมกลับกลายเป็นการสนับสนุนให้มีการทุจริต คดโกงมากขึ้นผมจึงอยากให้พี่น้องประชาชนมองกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ในปัจจุบันนี้การพิจารณาคดีกับนักการเมืองที่ทุจริตคดโกง เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากการผลพิจารณาตัดสินลงโทษอดีตรัฐมนตรีที่กระทำความผิด ไปแล้วหลายท่าน
ผมจึงขอหยิบยกงานวิจัยในต่างประเทศ ที่มีผลวิจัยออกมาว่า หากประชาชนในประเทศมองเห็นการทุจริตคดโกงเป็นเรื่องปกติ ประเทศนั้นก็จะเกิดปัญหาทุจริตคอรัปชั่นตามมา เริ่มตั้งแต่การซื้อสิทธิซื้อเสียงทั้งที่มีการรณรงค์ต่อต้านการซื้อเสียงมาโดยตลอด ผมเห็นมาตั้งแต่ผมเด็กๆ จนทุกวันนี้ก็แก้ไม่ได้ล่าสุด มี ส.ว.ท่านนึงบอกว่าการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นซื้อถึงหัวละหมื่นบาท ถือว่าเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมอีกปัญหาหนึ่งที่พวกเราไม่ควรมองข้าม ก็คือปัญหาการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งอุบัติขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 หรือที่รู้จักกันในนามแชร์แม่ชม้อย
จนถึงทุกวันนี้การฉ้อโกงประชาชนเป็นปัญหาระดับชาติที่ยังแก้ไขไม่ได้มาตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กจนถึงปัจจุบัน และทุกวันนี้มีพี่น้องประชาชนถูกหลอกลวงไปแล้วหลายล้านคน แต่ผมยังไม่เห็นหน่วยงานรัฐหน่วยไหนอาสาลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ถูกหลอก ถูกคดโกงอย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนจึงต้องแบกรับปัญหาตามลำพัง ตั้งแต่การรวบรวมหลักฐานเพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดี การติดตามทรัพย์ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน เช่นกรณีแชร์บลิสเชอร์ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2534 แล้วมาจับในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2537 คดีดังกล่าวใช้เวลาพิจารณาตัดสินคดี ในปี พ.ศ. 2558 หรือเกือบ 21 ปี
ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณช่วงปี 2534 ได้มีกลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งระบุว่า ทำธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อน หรือไทม์แชริ่ง โดยเปิดรับสมาชิกจำนวนมาก ผู้สมัครในชั้นแรกจะต้องจ่ายเงินจำนวน 30,000 บาท และจะมีสิทธิเข้าพักในโรงแรมต่างๆ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืนต่อปี นาน 20 ปี ที่น่าสนใจ ก็คือ หากผู้สมัครจัดหาสมาชิกเข้าร่วมโครงการจะได้ค่าตอบแทนอีก 20% และหากสามารถจัดหาผู้สมัครรายอื่นเพิ่มเติมก็จะได้ค่าตอบแทนอีก 20% โดยที่ผู้สมัครที่ให้การแนะนำเป็นคนแรกก็จะได้ค่าตอบแทนเช่นกันลดหลั่นกันไป สื่อมวลชนในยุคนั้นให้ความสนใจอย่างมากที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของบริษัทดังกล่าว และเริ่มนำเสนอข่าวของธุรกิจไทม์แชริ่งพันธุ์ใหม่ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2535
เนื่องจากผู้ชักชวนมักจะกระตุ้นอยู่เสมอๆ ว่า หากหาสมาชิก เพิ่มได้อย่างน้อย 4-5 คน ก็จะคุ้มทุน 30,000 บาท ที่เสียไปแล้ว แต่ถ้าหาสมาชิกได้จำนวนมากกว่านี้ รายได้จากเปอร์เซ็นต์ก็จะพอกพูนขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของสื่อ ความจริงที่ปรากฏก็คือการชักชวนชาวไร่ชาวสวนจากต่างจังหวัดเพื่อให้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิก ด้วยการใช้รายได้จำนวนมหาศาลในการจูงใจ บางครั้งมีการนำเช็กที่สมาชิกบางคนได้รับมาโชว์ให้กับ “เหยื่อ” ที่กำลังสนใจได้ชมเป็นขวัญตาว่าหากทำได้จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงิน 5 หลัก 6 หลักเลยทีเดียว ขณะที่การต้อนคนจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกยังดำเนินต่อไป แต่อีกฟากหนึ่งก็เริ่มมีเสียงร้องเรียนจากคนที่เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกแล้วไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่บลิสเชอร์กล่าวอ้าง จากนั้นหนังสือพิมพ์หลายๆฉบับก็เริ่มนำเสนอข่าวนี้เป็นระยะๆ
ขณะที่กระทรวงการคลังที่ประกอบด้วยคณะกรรมการ ป้องปรามธุรกิจเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ได้มีการจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ การเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ของบลิสเชอร์ มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อกระทรวงการคลังได้ประกาศแถลงการณ์ให้ประชาชนระวังในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือร่วมลงทุนในธุรกิจใด เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2536 เมื่อมีข่าวคราวออกไปดังกล่าวทำให้ประชาชนเริ่มระวังตัวมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ทำให้การดำเนินการของบลิสเชอร์สะดุดตามไปด้วย ซึ่งบลิสเชอร์ก็พยายามแก้เกมด้วยการใช้วิธีการโฆษณาผ่าน สื่อต่างๆ และยังชักชวนให้คนที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกและพร้อมจะจ่ายผลตอบแทนให้ในอัตราที่สูง สุดท้ายคดีนี้ผู้ต้องหาหลบหนีออกนอกประเทศ ไม่มีใครติดคุก เงินจะคืนผู้เสียหายก็ไม่ได้คืน
“สิ่งเหล่านี้คือความยุติธรรมแล้วหรือผมจึงอยากจะพูดให้เห็นว่า ปัญหาแชร์ลูกโซ่ยังอยู่ในมุมมืดที่ต้องได้รับการแก้ไข หากพิจารณาในเรื่องการอภัยโทษ หรือลดโทษในคดีฉ้อโกงประชาชน ซึ่งขอหยิบยก กรณีแชร์แม่ชม้อยถูกศาลสั่งจำคุก 1.5 แสนปี แต่ติดคุกจริงเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน ลดเยอะกว่าคดีอื่นๆ ทุกคดี
ดังนั้น หากจะกล่าวถึงการขออภัยโทษในคดีทุจริตจำนำข้าว ควรหันมามองปัญหาแชร์ลูกโซ่ด้วยว่า ทุกวันนี้มีการตั้งหน่วยงานที่จะมารับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนแล้วหรือยัง มีการปฏิรูปแก้กฎหมาย
แล้วหรือไม่ มีกองทุนที่จะติดตามเอาทรัพย์สินที่ยึดมาแล้วมาเฉลี่ยคืนให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนแล้วหรือยัง ทั้งที่ในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ได้แก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่อย่างเป็นระบบและในฐานะที่ผมทำหน้าที่ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย จึงต้องการสื่อสารให้พี่น้องประชาชนคนไทยอีกหลายล้านคนที่เดือดร้อนในเรื่องนี้” ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย กล่าว
นายสามารถ กล่าวต่อว่า จะแก้การโกงต้องให้ประชาชนคนในชาติไม่ถูกโกงก่อน วันนี้ผมขอเขียนไว้อาลัยให้กับคุณป้าคนนึงที่เป็นผู้เสียหายคดีมันญี่ปุ่น คุณป้าทองศรี ด่านใหม่ คุณป้าสู้ในการติดตามคดีตั้งแต่โดนโกง จนคดีนี้ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษคนโกงกับพวกไปแล้ว ตอนนี้อยู่ที่ศาลอุทธรณ์ เนื่องจากจำเลยต่อสู้คดี.. คดียังไม่ถึงที่สุดก็ติดตามทรัพย์สินมาไม่ได้ ตามประมวลกฏหมายอาญา ที่จะต้องคืนทรัพย์สินต้องให้ศาลเป็นผู้สั่ง แต่แล้วคุณป้าทองศรี ก็ยังไม่ได้เงินคืน และ เสียชีวิตไปในที่สุด
ไม่ใช่คุณป้าทองศรีที่ตายไปแล้วแต่ยังมีผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่จำนวนมากที่เสียชีวิตแล้วยังไม่ได้เงินคืน ไม่ว่าจะเป็นแชร์ตู้คอนเทนเนอร์ แชร์ตะเกียงน้ำมันหอมระเหย.ก็ล้วนมีคนเสียชีวิตไปแล้ว ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ รัฐบาลต้อง สังคายนากฎหมายการปราบปรามการฉ้อโกงประชาชน ต้องจัดตั้งกองบัญชาการปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนขึ้นมา ทำหน้าที่ตรวจสอบ จับกุม ขึ้นทะเบียน ยึดทรัพย์ มาคืนให้กับประชาชนผู้เสียหาย ไม่อย่างนั่นเรือนจำก็ไม่อาจได้ปรับเปลี่ยนนิสัยของผู้กระทำผิด เพราะ ในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว คดีแชร์ชาร์เตอร์ หลบหนีจนหมดอายุความ คดีแชร์บลิสเชอร์ ไม่ติดคุกเพราะประกันตัว แล้วหลบหนีชั้นฎีกา
วันนี้คดีโอดีแคปิตอล ผู้ต้องหาต่างชาติหลบหนี คนไทยประกันตัว ผันตัวมาหลอกลงทุนรูปแบบอื่นต่ออีก
เรื่องแบบนี้ มันสาหัสกว่าจำนำข้าวมั้ย ขอฝากสังคมช่วยกัน อย่างน้อยผมก็ขอพูดแทนผู้เสียหายนับล้านคนที่ไม่มีทางออก และ ไม่กล้าแสดงตัว แต่ทุกวันได้แต่ทนทุกข์ทรมาน ท้ายสุดนี้ผมขอไว้อาลัยให้คุณป้าทองศรี ด่านใหม่ หลับให้สบาย ผมจะเป็นตัวแทนสู้ไปให้ถึงที่สุดครับ