xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่มะกันส่ง “บิ๊ก” มาไทย !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา -  แอนโนนี บลิงเคน
เมืองไทย 360 องศา

ก็เป็นไปตามที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยแย้มออกมาให้ได้รับรู้กันราวสักสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ว่า “ในเร็วๆ นี้ มีข่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะมาเยือนไทย”

ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นายแอนโทนี บลิงเคน มีกำหนดเยือนประเทศในกลุ่มประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” ในสัปดาห์นี้ โดยเริ่มจากการเดินทางเยือนถึงกรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย ในวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคมนี้ ก่อนจะเดินทางไปเยือน มาเลเซีย และ ประเทศไทย เป็นลำดับถัดไป

ทั้งนี้ เป็นการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกของ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางมาเยือนไทยหลังจากเกิดภาวะโรคระบาดโควิด-19

ก่อนหน้านี้ เคยมีเรื่องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามจากกรณีที่สหรัฐอเมริกา ไม่เชิญไทยเข้าร่วมการประชุม “สุดยอดประชาธิปไตย” ที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพที่จัดแบบ “ประชุมออนไลน์” โดยในรายชื่อในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกเหนือจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียแล้ว ก็มี สิงคโปร์ และไทยเท่านั้นที่ไม่ได้รับเชิญ ซึ่งคงไม่ต้องพูดถึง พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม บรูไน เป็นต้น

ในครั้งนั้นการเมืองฝ่ายตรงข้ามกระแหนะกระแหน ว่า เป็นเพราะประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม “ประชุมทางออนไลน์” ในครั้งนี้ ขณะที่ประเทศในอาเซียนที่เป็นประชาธิปไตยอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ได้รับเชิญ และยังดีที่ สิงคโปร์ ไม่ได้รับเชิญเหมือนกับไทย ทำให้น้ำหนักในการกล่าวหาไทยลดลงไปมาก ขณะที่เวียดนาม แม้ปัจจุบันจะเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับสหรัฐฯ แต่ในเมื่อหัวข้อประชุมที่เขียนว่า “สุดยอดประชาธิปไตย” ทำให้เวียดนามซึ่งเป็น “เผด็จการคอมมิวนิสต์” ต้องถูกกันออกนอกวงไปก่อน

สำหรับประเทศไทยนั้น จากการตอบกระทู้ฝ่ายค้าน (ที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย) ของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงกับระบุว่า การไม่ได้รับเชิญหรือได้รับเชิญ ก็ไม่ควรดีอกดีใจ หรือเสียใจ และย้ำว่า หากมีการเชิญมาก็อาจต้องพิจารณาดูก่อนว่าจะ “สมควรเข้าร่วมดีหรือไม่”

อย่างที่รับรู้กันดีก็คือ เป้าหมายการประชุมในครั้งนั้น ก็เพื่อหาทางสกัดกั้นประเทศจีนที่กำลังเข้ามาแข่งขันอิทธิพลกับสหรัฐอเมริกาในทุกด้าน และที่สำคัญกำลังขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชีย โดยเฉพาะในเขตทะเลจีนใต้ที่นอกจากจีนแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่อ้างสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว จนกลายเป็นกรณีพิพาทจนสร้างความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ และการประชุมดังกล่าวก็ถูกมองว่าเป็นการ “สร้างแนวร่วมเพื่อคานอิทธิพลของจีน” นั่นเอง

ขณะที่ประเทศไทยถือว่าเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่มีปัญหาขัดแย้งกับจีน ทั้งในเรื่องเขตแดน หรือความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ทำให้ไทยดำเนินนโยบายได้แบบอิสระ หรืออีกด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า “ได้ประโยชน์จากทั้งสองขั้วมหาอำนาจ” ดังกล่าว เพราะด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อสำคัญในภูมิภาค ทำให้ทุกฝ่ายต้องเข้าหาไทย อยากให้ไทยเข้ามาเป็นพวก

สำหรับวาระของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค และประเทศไทย หากโฟกัสมาเฉพาะประเทศไทยที่ผ่านมา สหรัฐฯพยายาม “เปิดเกมรุก” เข้าหาไทยมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ลดบทบาทลงไปในยุครัฐบาลก่อน จนทำให้จีนเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย และที่ผ่านมา สหรัฐฯได้เพิ่มบทบาทในไทย ทั้งการลงทุน การขายอาวุธให้ไทย การกระชับความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรดั้งเดิม สังเกตได้จากมีการเพิ่มระดับการเยือนไทยอย่างถี่ยิบ ซึ่งการเยือนไทยของ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเยือนในระดับอาวุโสสูงสุดเลยทีเดียว

และที่สำคัญ ในปีหน้าประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศความร่วมมือในเขตเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นที่รวมของประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ จนเป็นที่จับตามองว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน อาจเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตัวเอง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายบลิงเคน จะผลักดันเป้าหมายของ ประธานาธิบดี ไบเดน ในการยกระดับการเกี่ยวพันกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สู่ระดับที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงในภูมิภาคท่ามกลางสถานการณ์ “การข่มเหง” ของจีน รวมทั้งหารือเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ของไบเดน ในประเด็นกรอบโครงเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก

ทั้งนี้ คณะบริหารของไบเดน มองว่า เอเชียอาคเนย์มีความสำคัญต่อความพยายามของวอชิงตัน ในการต่อต้านอำนาจของจีนที่นับวันจะเพิ่มขึ้น คณะบริหารของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับกรอบโครงเศรษฐกิจก็ตาม และรายงานว่า นายบลิงเคน มีแนวโน้มพยายามหว่านล้อมประเทศต่างๆ ด้วยแนวโน้มที่บริษัทอเมริกันจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปกป้องห่วงโซ่อุปทานที่อ่อนไหวและการอัดฉีดการพัฒนา กระนั้น ไม่มีสัญญาณว่า อเมริกาจะเสนอเพิ่มช่องทางเข้าถึงตลาดในประเทศตามที่อาเซียนต้องการ

ดังนั้น หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวและข้อมูลรอบด้านแล้ว การเยือนไทยและบางประเทศอาเซียนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในครั้งนี้ สำหรับไทยแล้วถือว่า “เนื้อหอม” ยังมีความสำคัญอยู่เสมอ และครั้งนี้นอกเหนือจากวาระหลักเป็นเรื่องอิทธิพลของจีนในภูมิภาคแล้ว ยังเชื่อว่า ยังต้องการกดดันให้ไทยแสดงบทบาทให้มากขึ้นในกรณีของพม่า ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกบทบาทแบบไหนในท่ามกลาง “เขาควาย” แบบนี้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น