xs
xsm
sm
md
lg

ไทยไม่ใช่ ปชต.แต่มะกันมาถี่...มาทำไม !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ แอนโทนี บลิงเคน
เมืองไทย 360 องศา

หากพิจารณาตามความเชื่อและมาตรฐานทางความคิดของบางกลุ่มที่จัดว่าประเทศไทยในปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่ได้รับเชิญจาก ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา เข้าร่วม “ประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย” ในวันที่ 9-10 ธันวาคมนี้ โดยมี 110 ประเทศ และเขตปกครองที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมในลักษณะออนไลน์

โดยใน 110 ประเทศเหล่านั้น ไม่มีชื่อประเทศไทยเข้าร่วมด้วย ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลต่างออกมาเสียดสี เยาะเย้ยว่าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่ได้รับเชิญ และไร้ค่าในเวทีการเมืองโลก หรือในภูมิภาคไปแล้ว อะไรประมาณนั้น

แต่ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายกลับมองไปอีกทางว่า “ไม่เชิญนะดีแล้ว” หรืออยู่เฉยๆ แบบนี้ดีกว่า เพราะหากได้รับเชิญก็ต้องมาคิดให้หนักว่าสมควรเข้าร่วมประชุมดีหรือไม่ ว่า “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่ เหมือนกับที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบกระทู้ในสภาเมื่อสองสามวันก่อน

อย่างไรก็ดี เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับเชิญในครั้งนี้ มีอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และนอกเหนือจากไทยแล้ว ยังมีสิงคโปร์ อีกประเทศหนึ่งที่ไม่ได้รับเชิญด้วย ซึ่งอย่างที่รับรู้กันดีว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ล้วนมีกรณีพิพาท หรือการอ้างสิทธิ์ในดินแดนและเขตเศรษฐกิจในเขตทะเลจีนใต้ กับจีน และชัดเจนว่า เป็นการประชุมในลักษณะ “แบ่งข้าง” กดดันกับฝ่ายจีน นั่นเอง


เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การที่ไม่ได้รับเชิญ นั่นแหละดีแล้ว เชิญว่ากันไปตามสบาย อะไรประมาณนั้น

แต่ขณะเดียวกัน หากความหมายจากการที่สหรัฐอเมริกาไม่เชิญเข้าร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยหมดความหมายในสายชาวโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯอย่างนั้นจริงหรือไม่ เพราะหากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวล่าสุด และก่อนหน้านี้ แบบแทบจะรายวันเว้นวันเลยก็ว่าได้ ที่มีทั้งระดับรัฐมนตรี คณะนักธุรกิจ หรือแม้แต่ “สายลับตัวเอ้” ระดับรองผู้อำนวยการข่าวกรองกลาง หรือ “ซีไอเอ” ก็มาพบ เรียกว่า “หัวกระไดไม่แห้ง” กันเลยทีเดียว แบบนี้มันหมายความว่าอย่างไร มันย้อนแย้งพิกล

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน กลุ่มสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (U.S.-A SEAN Business Council: USABC) คณะใหญ่ยกขบวนเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในไทย โดยเป็นการประชุมร่วมกับสมาคมธุรกิจขนาดใหญ่เกือบ 50 บริษัท ของสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน ซึ่งมีการประชุมต่อเนื่องมาทุกปี

หลังการหารือ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวว่า มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา การพลิกโฉมประเทศไทยในทุกๆ ด้าน ทั้งสุขภาพ ดิจิทัล เทคโนโลยี การแพทย์ การให้บริการ รวมถึงอาชีพอื่นๆ ที่มีการลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้วก็ยินดีที่จะมาทำธุรกิจใหม่ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ในฐานะที่ไทยเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางยุทธศาสตร์ ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา การพูดคุยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของธุรกิจข้ามชาติ ธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการพูดคุยในสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งเราต้องการพลิกโฉมประเทศไทยในทุกมิติ และเป็นที่น่ายินดีที่มีความก้าวหน้า และจะมีการขับเคลื่อนต่อไปให้เร็วที่สุด เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศของเราในหลายเรื่องด้วยกัน

เมื่อถามว่า ทางกลุ่มธุรกิจลงทุนยังมีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยเช่นเดิมใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เขาสนใจเหมือนเดิม ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น และไม่เคยมีปัญหาอะไรอย่างที่หลายคนไปวิพากษ์วิจารณ์ยืนยันว่าไม่มี และ “ในเร็วๆ นี้ ได้ข่าวว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จะเดินทางมาเยือนไทย ซึ่งคงได้มีการพูดคุยกันในหลายเรื่องด้วยกัน และเป็นการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งในอาเซียน”

ก่อนหน้านี้ เมื่อสองสามวันก่อนก็มีกลุ่มนักธุรกิจสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยก็ได้เข้าพบหารือกับ นายกรัฐมนตรีมาแล้วอีกชุดหนึ่ง หรือก่อนหน้านั้นไปอีก ก็มีการประกาศกำหนดการเยือน 4 ประเทศอาเซียนของ นายแดเนียล คริเตนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านเอเชียตะวันออก คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคมนี้

นาทีนี้หากบอกว่าประเทศไทยไม่อยู่ในสายตาก็คงไม่ได้แล้ว เพราะแต่ละรายการถือว่าน่าจับตาทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เพิ่งเปิดเผยล่าสุดอีกว่า ในเร็วๆ นี้ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินทางมาเยือนประเทศในภูมิภาคนี้ และหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา

ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตาเหมือนกันว่าไทยจะรับมือได้อย่างไร เพราะเชื่อว่า นอกเหนือจาก “หน้าฉาก” ด้านความสัมพันธ์แล้ว ก็ต้องพิจารณาถึง “แรงกดดัน” ที่ต้องเข้ามาพร้อมกัน ในท่ามกลางสถานการณ์ “เลือกข้าง” กับทางฝ่ายจีน และสถานการณ์ในพม่า หรือเมียนมา ที่ร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง

ดังนั้น หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐฯ ที่หากโฟกัสเฉพาะไทย ก็ต้องบอกว่า สหรัฐฯกำลัง “รุกหนัก” ในลักษณะทั้ง “กด” ทั้ง “ปลอบ” ให้ไทย “เลือกข้าง” ให้ได้ ขณะเดียวกัน งานนี้ก็ต้องพิสูจน์ว่าจะสามารถรักษาความสมดุลระหว่างสองฝ่ายได้หรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และจุดยืนรักษาผลประโยชน์ของชาติของผู้นำว่ามีมากแค่ไหนอีกด้วย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น