xs
xsm
sm
md
lg

ไทยการทูตสองหน้า กินรอบวง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเหว่ย
เมืองไทย 360 องศา

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองโลกที่กลับมาแบ่งแยกเป็นสองขั้วอีกครั้ง และบีบคั้นให้หลายประเทศ “ต้องเลือกข้าง” และในนั้นก็รวมเอาประเทศไทยเข้าไปด้วย ว่าจะต้องเลือกยืนข้างไหน หรือจะใช้วิธีการที่เรียกว่า “การทูตแบบไทยๆ” ร่วมมือทุกฝ่าย เพื่อผลประโยชน์ที่ได้รับมากที่สุด จะใช้ได้ผลหรือไม่

แน่นอนว่า เวลานี้การเมืองโลกแบ่งออกเป็น “สองขั้ว” อย่างชัดเจน นั่นคือ ฝ่ายแรกนำโดย สหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตก เป็นแกนหลัก ขณะที่อีกขั้วหนึ่งก็มี จีน กับรัสเซีย ที่ผนึกกำลังกันแน่น ทั้งสองขั้วต่างแข่งขันแย่งกันมีอิทธิพลกันในภูมิภาคต่างๆ ในทุกเรื่อง ทำให้สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะตึงเครียดมากขึ้นทุกที

หากโฟกัสให้แคบเข้ามาอีก ก็ต้องแบ่งเป็นสองประเทศหลักๆ ที่กำลังแข่งขันและกำลังแสดงท่าทีเป็นศัตรูกันมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ ระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับจีน หลังจากที่ฝ่ายหลังเริ่มมีการพัฒนาจี้ติด และกลายเป็น “คู่แข่ง” ในทุกเรื่องทำให้ สหรัฐฯ รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกลดทอนอิทธิพลและผลประโยชน์ในเวทีโลกมากขึ้นทุกที จึงต้องหาทางสกัดกั้นอีกฝ่ายในทุกวิถีทาง ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงความตึงเครียดในโลก โดยเฉพาะในแทบทุกภูมิภาค เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างเข้าไปมีอิทธิพล และแย่งชิงผลประโยชน์ทั้งด้านการค้า และด้านทรัพยากร

ขณะเดียวกัน เมื่อแต่ละฝ่ายต่างก็มี “ลูกคู่” หรืออาจจะเรียกว่า “ลูกน้อง” ก็ได้ เข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเพราะสภาวะบังคับให้ต้องเลือกข้างต้องเข้าร่วม หรือเพื่อ “ความอยู่รอด” บางประเทศก็อยู่ในฐานะเป็น “คู่ขัดแย้ง” กับอีกฝ่าย แต่อยู่ในฐานะเป็นประเทศเล็กกว่า หรือเป็นคู่ขัดแย้งกันมายาวนาน ก็มีความจำเป็นต้องเลือกข้างดังกล่าว

แต่สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว “ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง” เพราะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายได้อย่างดี และนี่อาจเป็นจุดเด่นของไทยก็เป็นได้

มีหลายคนตั้งคำถามแบบต้องการให้ “เสียหน้า” ว่า ทำไมสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ถึงไม่เชิญประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอด “เพื่อประชาธิปไตย” โดยเชิญประเทศเข้าร่วมถึง 110 ประเทศ โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียน ก็มี อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ขณะที่ ไทย และ สิงคโปร์ กลับไม่ได้รับเชิญ ส่วนประเทศหรือ เขตปกครองอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่ทำให้เป็นที่จับตาและมองเห็นถึงเป้าหมายบางอย่างชัดเจนขึ้น ก็คือ ในจำนวนนั้นมีการเชิญ ไต้หวัน เข้าร่วม ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจที่จะต้องสร้างความโกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรงจากฝ่ายจีน ที่ถือว่าไต้หวัน เป็นแค่มณฑลหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ ก็ยังมี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ปากีสถาน เป็นต้น ที่เหลือนอกนั้นก็จะเป็นประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น เมื่อเห็นรายชื่อแต่ละประเทศแล้ว มันก็ทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่า ล้วนเป็นพันธมิตร หรือได้ “เลือกข้าง” มาตั้งนานแล้ว รวมไปถึงประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีน ในเรื่องดินแดนและเขตทรัพยากรในทะเลจีนใต้ กับจีน ทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นบางอย่าง เช่น เวียดนาม แม้จะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ อย่างแนบแน่น และเป็นคู่ขัดแย้งหลักกับจีน ในการอ้างดินดินแดนในทะเลจีนใต้ แต่เมื่อหัวข้อว่า “ประเทศประชาธิปไตย” มันก็ต้องกันเวียดนามออกมาก่อนแน่นอน รวมทั้งอีกหลายประเทศ

แต่สำหรับประเทศไทยนั้น นาทีนี้ถือว่าต้องรักษาความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย ไม่มีความจำเป็นต้องเลือกข้างฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือสหรัฐฯ เพราะเมื่อพิจารณาจากทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ที่ถือว่าเป็น “จุดยุทธศาสตร์” ในภูมิภาค ยิ่งการเอียงข้างใดข้างหนึ่งอาจจะสร้างผลลบมากกว่าบวก หรือแม้แต่กรณีของพม่า ที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ไทยต้องแสดงจุดยืนนั้น โดยเฉพาะมีท่าทีกับรัฐบาลเผด็จการทหาร และเรียกร้องให้ไทยต้องมีบทบาทเด่นในเวทีโลก หรือบทบาทนำในอาเซียน

แต่คำถามก็คือ ประเทศไทยมีชายแดนติดกับพม่า หรือเมียนมา กว่าสองพันกิโลเมตร ไม่ว่าเราจะอยู่เฉยๆ หรือเข้าไปมีบทบาทที่อาจถูกมองว่า “แทรกแซง” ย่อมไม่เป็นผลดีกับเราแน่นอน และที่สำคัญ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรายังต้องแบกรับผู้ลี้ภัยที่เป็นชนกลุ่มน้อยพม่าตามแนวชายแดนนับแสนคน ที่ยังไม่อาจผลักดันกลับไปได้

แน่นอนว่า ยิ่งสถานการณ์ในพม่ายิ่งเลวร้าย มันก็ยิ่งมีผลกระทบกับไทย จะมีผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาอีกนับแสนนับล้านคน ขณะที่ประเทศอื่นไม่ว่ามหาอำนาจ หรือบางประเทศในอาเซียน เช่น อินโดฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่บรูไน ที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ที่ถูกมองว่ามีบทบาทเด่นแซงหน้าไทยนั้น ประเทศเหล่านั้นไม่ได้อยู่ติดกับพม่า ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ขณะที่มหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และจีน นั้น ต่างก็แย่งกันมีอิทธิพลในพม่า และไม่ต้องคิดให้ลึกซึ้งมากมาย ก็พอมองออกว่าสถานการณ์ในพม่าเวลานี้ที่ซับซ้อนลงไปเรื่อยๆ นั้น มีสาเหตุมาจากการแทรกแซงของประเทศไหน แต่คนที่ซวยคือไทยแน่นอน

ตรงกันข้าม หากเราวางบทบาทที่เหมาะสมกับพม่า ก็จะยิ่งได้รับการไว้ใจ สามารถเป็น “คนกลาง” ไกล่เกลี่ยได้ในอนาคต และยังสามารถทำการค้าตามแนวชายแดนได้ต่อไป หรือแม้แต่แรงงานต่างด้าวชาวพม่า ก็ยังมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุด ก็จำเป็นให้มีการเซ็นเอ็มโอยูนำเข้าแรงงานให้ถูกกฎหมายในเดือนหน้า เพื่อลดการข้ามแดนผิดกฎหมายและค้ามนุษย์ การป้องกันโรคระบาด เป็นต้น

เมื่อวกกลับไปที่การประชุมกลุ่มประเทศประชาธิปไตยครั้งแรก ที่สหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตี โดยที่ไม่เชิญไทย หรือไม่มีประเทศไทยรวมอยู่ในนั้น ทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปเป็นประเด็นโจมตีทั้งในเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย หรือว่าไทยไม่อยู่ในสายตาอะไรประมาณนั้น

แต่ขณะเดียวกัน หลายคนกลับมองว่า “ไม่เชิญนั่นแหละดีแล้ว” เพราะรู้อยู่แล้วว่านี่คือ “เวทีเลือกข้าง” ที่ทำให้อีกฝ่ายเขม่น และที่สำคัญ ไทยเราไม่มีความจำเป็นต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง แต่เราจะเลือกทั้งสองข้าง เราต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย เราต้องการนักลงทุนจากทุกค่าย ทำการค้ากับทุกประเทศ น่าจะดีกว่าไปสร้างข้อจำกัดให้กับตัวเองหรือไม่ เหมือนกับวันก่อน รองผู้อำนวยการซีไอเอ มาเยือนไทย แต่วันนี้เราก็พบกับผู้ก่อตั้งของบริษัท “หัวเหว่ย”

ดังนั้น หากบอกว่า “นี่คือ การทูตแบบไทยๆ” ที่ยังใช้ดี เนื่องจากเน้นสร้างความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง ในทางตรงข้าม ในด้านที่ตั้งยุทธศาสตร์ภูมิภาคที่สำคัญ ทำให้ทุกฝ่ายต้องเข้ามาหา เหมือนกับคบทุกคนเป็นมิตร แต่ “กินรอบวง” ไม่ดีกว่าหรือ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น