xs
xsm
sm
md
lg

“ดอน” ตอบกระทู้ “สุทิน” ระบุสหรัฐฯจัดสุดยอดประเทศ ปชต.เป็นเวทีเล่นงานการเมือง ไทยไม่ได้รับเชิญไม่ต้องเสียใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดอน” ตอบกระทู้ “สุทิน” ระบุ สหรัฐจัดสุดยอดประเทศ ปชต. เป็นเวทีเล่นงานการเมือง ไทยไม่ได้รับเชิญไม่ต้องเสียใจ ยันเยือนพม่าตามกติกาสังคมโลก เป็นตัวกลางเชื่อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สอน งานการต่างประเทศไม่จำเป็นต้องป่าวประเทศ เหน็บ ไม่ใช่มนุษย์พันธุ์หิวแสง

วันนี้ (25 พ.ย.) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เกี่ยวกับเมื่อวันที่ 14 พ.ย. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เดินทางเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในความผิดปกติและไม่เหมาะสม เพราะภายหลังที่เมียนมาทำรัฐประหาร สังคมโลกต่างแสดงท่าทีรังเกียจ คว่ำบาตร และเรียกร้องให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยโดยด่วน โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติมีท่าทีทีชัดเจนที่สุด แม้แต่กลุ่มอาเซียนด้วยกันเองก็ไม่รับรอง ไม่เชิญเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ไทยกลับไปเยือน สวนทางสังคมโลก หลายประเทศระมัดระวังท่าทีต่อพม่า บางประเทศไปเยือน แต่เขาส่งระดับทูตพิเศษเท่านั้น ไม่เหมือนกับเราที่ให้ผู้นำระดับสูงของประเทศไป

นอกจากนี้ ไทยยังไปเยือนแบบลับๆ ล่อๆ ไม่มีแถลงข่าว ไม่มีวาระแจ้งต่อสังคมไทย แต่ที่ทราบข่าว เพราะมาจากข่าวพม่าเปิดเผย และเข้าใจโดยเจตนาว่า เขาใช้ไทยเป็นเครื่องมือรับรองสถานะของเขา นำเครดิตของเราสร้างความชอบธรรมให้กับประเทศของเขา

“การไปเยือนบอกว่าไปมอบวัคซีนให้พม่า ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่อยู่ในฐานะรับบริจาค ซึ่งเรานำไปมอบให้รัฐบาลทหาร อยากถามว่าแน่ใจหรือไม่จะถึงมือประชาชน มนุษยธรรมจะถึงมือประชาชนชาวพม่าหรือไม่ ต้องคิด ถัดมาไม่นาน เจ้าหน้าที่ระดับสูงซีไอเอเข้าพบนายกฯของเรา เรากังวลว่าจะกระทบกับประเทศหรือไม่ และขอตั้งข้อสังเกตว่า ในเดือนธันวาคมนี้ สหรัฐอเมริกาจะจัดประชุมสุดยอดประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย 110 ประเทศ แต่ไม่ได้เชิญเรา มาจากเหตุการณ์ไปเยือนพม่าหรือไม่ ดังนั้น จึงอยากถามว่ามีเหตุผลอะไรต้องไปเยือน เจรจาเรื่องอะไร และอยากถามถึงท่าทีของไทยที่เมียนมาทำรัฐประหารด้วย” นายสุทิน กล่าว

นายดอน ชี้แจงว่า การไปเยือนครั้งนี้เป็นไปตามกติกาสังคมสากล เรื่องมนุษยธรรม และในฐานะที่เมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้าน พูดคุยเรื่องทวิภาคี ยืนยันทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ชาติทั้งสิ้น พม่าเป็นประเทศสำคัญในด้านยุทธศาสตร์ มีชายแดนติดต่อจีน อินเดีย ไทย และประเทศอื่นๆ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในชายแดนจำนวนมาก เป็นที่รับรู้หลายประเทศ ทำให้มีคำร้องขอต่อไทยให้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมพม่าในแง่มนุษยธรรม ดังนั้น การเรียกร้องของนานาประเทศมาจากสภาวะที่เป็นจริง นายสุทิน อาจยังไม่ทราบเมื่อครั้งที่ตนเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมสหประชาชาติ ที่วอชิงตัน ทั้งภาครัฐบาล เอ็นจีโอ ขอร้องให้ไทยช่วยเชื่อมกับพม่าในด้านมนุษยธรรม รวมถึงอาเซียนเองก็เป็นหนึ่งในห้าข้อฉันทามติ ซึ่งไทยก็ดำเนินการตามนั้น

ก่อนที่จะเดินทางไปเยือนเมียนมา ไทยได้ร่วมกับอาเซียนในการจัดส่งของเข้าไปให้กับกาชาดสากลที่ปฏิบัติงานอยู่ เรามีเส้นทางพิเศษที่เรียกว่าศูนย์ช่วยเหลือโลจิติกส์ อยู่ที่ไชน่า และเมื่อวันที่ 14 พ.ย. เราได้สิ่งของบริจาคโดยตรงจากภาคเอกชนของเรา รวม 17 ตัน แต่เอาไปได้แค่ 11 ตัน แต่ทั้งหมดย้ำว่าเพื่อกาชาดในเมียนมา สิ่งต่างๆ ที่ไทยดำเนินการ ล้วนแล้วแต่ได้รับการต้อนรับจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

“ผมไม่ได้ไปเยือนแบบลับๆ ล่อๆ แต่ไปตามสถานการณ์และความจำเป็น เราไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องป่าวประกาศโฆษณา เพราะไม่ใช่มนุษย์พันธุ์หิวแสง ในด้านการต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องประกาศ แต่ทำงานหวังผลสำเร็จ ดำเนินการไปด้วยความรอบคอบสุขุม ทำงานเพื่อประโยชน์ของชาติ ท่านเคยได้ยินคำที่ว่า ไฟต์ไฟต์ ทอล์กทอล์ก หรือไม่ ฉันใดฉันนั้น ไทยเป็นประเทศที่หลายประเทศมาขอร้อง ขอให้ไทยเป็นตัวกลาง”

ส่วนการเชิญประชุมสุดยอดฯนั้น เป็นการเมืองล้วนๆ ไว้สำหรับเร่งงานกันและกัน และกรณีนี้ไม่ใช่ว่าเพื่อนอาเซียนที่เป็นประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งจะได้รับเชิญเช่นกัน เรื่องนี้บางทีก็เป็นเหมือนดาบสองคม บางครั้งไม่เชิญก็ถือเป็นเรื่องดีเหมือนกัน แม้จะไม่มีคำเชิญ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตื่นตระหนกกระทืบเท้าด้วยความเสียใจ ขณะเดียวกัน แม้เราจะได้รับเชิญก็ไม่ต้องลิงโลด แต่ต้องพิจารณาว่าจะไปร่วมหรือไม่ไปร่วมเสียก่อน

นายดอน กล่าวด้วยว่า สำหรับท่าทีของไทยที่มีต่อเมียนมาในการทำรัฐประหารนั้น เราพยายามสื่อสารว่าให้หาช่องทางพุดคุยปรองดอง แบ่งสรรอำนาจ วันที่ 14 พ.ย. ที่ไปเยือนมานั้น ตนก็ยังคุยว่าต้องหยุดความรุนแรง และปล่อยนักโทษทางการเมืองโดยเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น