เอเอฟพี - สื่อทางการพม่ารายงานว่ากลุ่มบริษัทของกองทัพได้ยื่นคำร้องขอยุบกิจการโรงเบียร์ ที่บริษัทดำเนินงานร่วมกับ คิริน (Kirin) บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น
เศรษฐกิจของพม่าถดถอยลงตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจในเดือนก.พ. ที่ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวาง เหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรง และการคว่ำบาตรจากต่างชาติ
“ทนายความของบริษัท Myanma Economic Holdings Limited (MEHL) ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอยุบบริษัท Myanmar Brewery Limited ในวันที่ 19 พ.ย.” หนังสือพิมพ์เมียนมาร์ อาลิน รายงานโดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเหตุใดถึงมีการยื่นคำร้องดังกล่าว
บริษัทคิริน ของญี่ปุ่น ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Myanmar Brewery Limited ร่วมกับบริษัท MEHL กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ภายใต้การควบคุมของกองทัพที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลากหลาย เช่นเบียร์ ยาสูบ การขนส่ง สิ่งทอ การท่องเที่ยว และการธนาคาร
บริษัท Myanmar Brewery ผลิตเครื่องดื่มหลากหลายที่รวมถึงแบรนด์เรือธงของบริษัทอย่าง Myanmar Beer และครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 80% ตามข้อมูลที่บริษัทคิรินเผยแพร่ในปี 2561
เมียนมาร์อาลินรายงานว่า ศาลจะพิจารณาคำร้องในวันที่ 10 ธ.ค. นี้
ทั้งนี้ โฆษกของบริษัทคิรินกล่าวว่าบริษัททราบเรื่องดังกล่าวจากประกาศในหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่า แต่ยังไม่ได้รับแจ้งโดยตรง และบริษัทกำลังตรวจสอบรายละเอียดของเรื่องนี้
ธุรกิจในพม่าของบริษัทคิริน ทำรายได้ 32,600 ล้านเยน (309 ล้านดอลลาร์) ในปีงบประมาณ 2562-2563 แต่บริษัทถูกตรวจสอบหลายครั้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบริษัทกับโรงเบียร์ที่กองทัพเป็นเจ้าของ
หลายวันหลังเกิดการรัฐประหาร คิรินกล่าวว่าบริษัทจะตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกองทัพ โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารกระทำสิ่งที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้บริษัทยังวางแผนที่จะยุติการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับกองทัพ แต่จุดยืนในการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โฆษกของบริษัทคิริน กล่าว
นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาในพม่าหลังจากกองทัพคลายอำนาจในปี 2554 ที่ปูทางไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน บรรดานักลงทุนทุ่มเม็ดเงินลงในโครงการโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน การผลิตและการก่อสร้าง
การรัฐประหารได้ยุติระบอบประชาธิปไตยของประเทศ และเมื่อต้นปี ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของพม่าจะหดตัวถึง 18%.