วิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างยูเครนกับรัสเซียทำท่าจะไม่เลิกรากันง่าย เมื่อรัสเซียยังไม่ยอมเคลื่อนกำลังทหารที่อยู่ชายแดนทั้ง 2 ประเทศ จำนวน 90,000-175,000 นายเพื่อลดสภาวะกดดันและความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะตัดสินใจรุกเข้าไปในยูเครน
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้พูดคุยกับผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน นานกว่า 2 ชั่วโมงผ่านระบบวิดีโอ มีทั้งคำพูดชักชวนและคำขู่ให้เห็นผลร้ายถ้ารัสเซียบุกยูเครนจริง เพราะเห็นอยู่แล้วการชุมนุมกำลังขนาดใหญ่คงไม่ใช่มาแค่ฝึกซ้อม
กองกำลังทหารยังได้รับการสนับสนุนด้านเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์เพื่อให้ทหารรัสเซียปฏิบัติการต่อเนื่องได้นานระหว่าง 7 ถึง 10 ในกรณีที่บุกยูเครน
เป็นการประชุมสุดยอดของผู้นำชาติมหาอำนาจทั้งสอง ครั้งแรกหลังไบเดนได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม หลังจากการพูดคุยกันปูตินแถลงต่อผู้สื่อข่าวว่าตนเองมองไม่เห็นภาพในแง่ดีในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
ไบเดนเตือนปูตินช่วงการเจรจากันว่าถ้าบุกยูเครนเมื่อไหร่ รัสเซียจะถูกมาตรการตอบโต้หนักด้านเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยโดนมาก่อน
ทั้งสองฝ่ายแสดงความสนใจที่จะพบปะกันตัวต่อตัว แทนระบบวิดีโอเพื่อให้การเจรจาได้ผลกว่าที่เป็นอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะสงครามเย็นเหมือนในยุคก่อนคอมมิวนิสต์ในรัสเซียล่มสลาย แต่ยังไม่มีกำหนดว่าการพบปะจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
รัสเซียเคยบุกยึดแหลมไครเมียจากยูเครน แล้วผนวกเป็นของตัวเองในปี 2014 มาแล้ว โดยที่กองกำลังชาติตะวันตกไม่กล้าหือ หรือต่อต้าน
คำขู่ของไบเดนดูเหมือนจะไม่มีน้ำหนักพอ ล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศจี 7 ซึ่งเป็นกลุ่มชั้นนำด้านเศรษฐกิจ ได้ออกแถลงการณ์เตือนรัสเซีย
เป็นคำเตือนหลังจากการประชุม 2 วันที่เมืองลิเวอร์พูล อังกฤษ ว่าถ้ารัสเซียส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครนจะได้รับการตอบโต้โดยมาตรการทางเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาจะรุนแรงที่สุดต่อสภาพเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งประสบภาวะลำบากระดับหนึ่งแล้ว
ก่อนหน้านี้รัสเซียได้เผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ ในสงครามการค้าในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่กลุ่มยุโรปตะวันตกยังไม่เข้าร่วมคว่ำบาตรอย่างเต็มที่เพราะต้องพึ่งพาการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
กลุ่มจี 7 ไม่ได้ระบุมาตรการว่าเป็นอะไร แต่ก็ถูกคาดหมายว่าจะเป็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยรัสเซียอาจถูกตัดขาดทางการค้าและธุรกรรมการเงินต่างๆ จากกลุ่มประเทศยุโรปและเครือข่ายจี 7 ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ
นอกจากคำเตือนแล้ว กลุ่มจี 7 ยังประณามการชุมนุมกำลังทหารบริเวณชายแดนกับยูเครน ซึ่งมองว่าเป็นการข่มขู่คุกคามอธิปไตยของยูเครน
“เราขอเรียกร้องให้รัสเซียลดสภาวะความตึงเครียดในการเผชิญหน้าและใช้ช่องทางการทูตในการแก้ไขปัญหา ให้อยู่ในกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นสากล และยึดมั่นในกติกาความโปร่งใสด้านการใช้กำลังทหาร” แถลงการณ์ระบุ
กลุ่มจี 7 ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา อังกฤษ และสหรัฐฯ ซึ่งยังเตือนอีกว่ารัสเซียจะต้องจ่าย “ในราคาแพง” สำหรับการใช้กำลังทหาร
นอกจากนั้น กลุ่มจี 7 ยังแสดงท่าทีว่าจะช่วยเหลือยูเครนด้านกำลังทหาร เพียงแต่ไม่ระบุตรงๆ ว่าจะส่งกองทัพเข้าร่วมรบกับยูเครน ถ้าถูกรัสเซียบุก
อย่างหนึ่งซึ่งมีความเป็นไปได้คือการระงับการสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย
ในการเจรจากับไบเดนก่อนหน้านี้ ปูตินได้บอกว่าจะไม่ใช้กำลังทหารบุกเข้ายูเครน แต่เรียกร้องให้กลุ่มสนธิสัญญานาโตละเว้นการชักชวนให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต ซึ่งจะทำให้พรมแดนชาติสมาชิกนาโตได้จ่อติดชายแดนกับรัสเซีย
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ จี 7 ได้ปฏิเสธคำขอของรัสเซียในประเด็นนี้ อ้างว่ายูเครนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการกำหนดนโยบายเพื่อวางแนวทางสำหรับอนาคตของตนเอง และขอชื่นชมกับความอดทน ใจเย็นในท่าทีของยูเครน
ทางการยูเครนอ้างว่ารัสเซียอาจส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครนในช่วงปลายเดือนมกราคมปีหน้า แต่ฝ่ายสหรัฐฯ ยังไม่ได้รับสัญญาณว่ารัสเซียจะกระทำเช่นนั้น
รัสเซียก็อ้างว่ายูเครนเป็นฝ่ายยั่วยุ และให้มีการรับประกันว่ากลุ่มนาโตจะไม่มีการติดตั้งอาวุธในยูเครนให้ประชิดชายแดนของรัสเซีย และปูตินยังอ้างว่าสถานการณ์การปราบกบฏในยูเครนมีการกระทำเหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
“เรารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในย่านดอนบาส” ปูตินอ้างถึงพื้นที่ซึ่งมีการสู้รบกันระหว่างทหารยูเครนและกองกำลังฝ่ายกบฏ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธจากรัสเซียในการรุกคืบเข้าชิงพื้นที่
ยูเครนเคยอยู่ภายใต้อาณัติของสหภาพโซเวียตจนกระทั่งระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในปี 1991 รัฐต่างๆ ภายใต้สหภาพโซเวียตประกาศแยกตัวเป็นอิสระ ประเทศในยุโรปตะวันออกเช่นโปแลนด์ได้เป็นสมาชิกนาโต
ที่ผ่านมารัสเซียแสดงความไม่พอใจที่กลุ่มนาโตพยายามติดตั้งอาวุธในโปแลนด์ซึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกในภาคีนาโตและประชาคมยุโรป