เมืองไทย 360 องศา
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มเร่าร้อนขึ้นมาทุกขณะ และหลายคนยังเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่น่าจะต้องเกิดขึ้นในปีหน้า คือ ปี 2565 ส่วนจะเป็นช่วงกลางปี หรือปลายปีนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะยืนยันหนักแน่นหลายครั้งว่าจะอยู่จนครบเทอม นั่นคือ จนถึงต้นปี 2566 ก็ตาม
สาเหตุที่มีความเชื่อว่าน่าจะเกิดการเลือกตั้งในราวกลางปี หรือปลายปีหน้านั้น มันมีเหตุปัจจัยบางอย่างให้เชื่อ ทั้งในเรื่องของไทม์ไลน์จากการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ และแก้ไขจำนวน ส.ส.เป็นแบบแบ่งเขต 400 คน และบัญชีรายชื่ออีก 100 คน รวมเป็น 500 คน ดังทราบกันดีแล้ว
บรรดากูรูทั้งหลายระบุเอาไว้แล้วว่า กฎหมายลูกน่าจะเสร็จสิ้นราวกลางปีค่อนไปทางปลายปีหน้านั่นเอง และยังคาดว่าพอหลังจากนี้ ก็จะมีกระแสกดดันจากสังคมรอบข้างกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ และที่ผ่านมา แม้แต่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ถือว่าเป็น “มือกฎหมายชั้นเซียน” ก็ยังเคยเตือนให้ นายกฯเตรียมรับมือกับกระแสกดดันดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้าอีกด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตาไม่แพ้กัน ก็คือ ประเด็น “วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่า “ไม่เกิน 8 ปี” จะเริ่มนับกันตอนไหน จะนับกันตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 57 เป็นต้นมาหรือไม่ หากเริ่มนับกันตั้งแต่นั้นมา ก็ต้องครบกำหนดในเดือนสิงหาคมปีหน้า ซึ่งทางฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย และ ก้าวไกล ตั้งท่ารอยื่นตีความกับศาลรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้าเมื่อใกล้ถึงเวลา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันไม่น้อย
แม้ว่าหลายคนจะมีความเชื่อว่า น่าจะเริ่มนับวาระกันตั้งแต่หลังรัฐธรรมนูญปี 60 มีผลบังคับใช้ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อยากไปขัดคอใคร เอาเป็นว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ดีเหมือนกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน จะได้ไม่ต้องคาดเดากันเปะปะ
แต่เรื่องนับวาระเวลา 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะเป็นเรื่องรอง เมื่อเทียบกับกรณีแรงกดดันให้เกิดการยุบสภาหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสำคัญ 2 ฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นราวกลางหรือปลายปีหน้า เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างหนุนส่ง ทั้งในเรื่องของบางพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ถือว่า “ร้าง” จากอำนาจรัฐมานาน ก็ย่อมใจจดใจจ่อ อย่างเร่งให้มีการเลือกตั้งไวๆ เพื่อหวังจะได้กลับมา
และแน่นอนว่า ย่อมเป็นใครไปไม่ได้ที่ “ฝันหวาน” มากกว่าใคร หากไม่ใช่ “โทนี่แม้ว” นายทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นเจ้าของพรรค
เมื่อพูดถึงพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาถึงความ “พยายามสร้างกระแส” ให้เกิดภาวะ “แลนด์สไลด์” เกิดขึ้นอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า นั่นคือ เริ่มมีความเคลื่อนไหวสร้างกระแสให้เห็นว่า ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายเหมือนกับในยุคของ พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544 และในการเลือกตั้งครั้งถัดมา ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร ยังครองอำนาจ เวลานี้พวกเขาได้เริ่มเปิดแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” กันไปบ้างแล้ว ซึ่งหากคิดแบบเข้าข้างตัวเอง ก็ต้องมั่นใจแบบนั้นอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน อาจพิจารณาจากองค์ประกอบอื่น เช่น ที่ประเมินว่า การกลับมาใช้บัตรเลือกตั้งแบบสองใบ ทำให้พรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้เปรียบพรรคอื่น และประเด็นถัดมา ในการเลือกตั้งคราวหน้า นายทักษิณ ชินวัตร “ทุ่มเต็มที่” อย่างน้อยก็พิสูจน์ให้เห็นจากการส่ง “ลูกสาวคนเล็ก” คือ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาคุมพรรคโดยตรง ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคด้านการมีส่วนร่วมฯ
ซึ่งคาดหมายว่า เมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็น่าจะได้รับการเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอันดับหนึ่ง ค่อนข้างแน่ เรียกว่านี่คือ “สายตรง” เพื่อเรียกความมั่นใจให้กับ “แฟนๆ” ว่าครั้งนี้เอาแน่
อย่างไรก็ดี เมื่อคิดว่านี่คือ “จุดแข็ง” แต่อีกด้านหนึ่งมันก็กลายเป็น “จุดอ่อน” ขึ้นมาทันทีเช่นเดียวกัน เพราะทันทีที่ น.ส.แพทองธาร รับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค สิ่งสำคัญอันดับแรก ที่เธอประกาศให้ได้ยินไปทั่วก็คือ “อยากพาพ่อกลับบ้าน” ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจความหมายทันทีว่า ต้องการ “กลับบ้านแบบไม่ต้องรับโทษ” หรือ ไม่ต้องติดคุก หรือกลับมาแบบเท่ๆ อย่างที่เคยพูดมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นายทักษิณ ชินวัตร สามารถกลับเมืองไทย หรือสามารถกลับมา “จูบแผ่นดิน” ได้ตลอดเวลา เหมือนกับที่เคยทำมาแล้ว เพียงแต่ว่าเขามีสถานะเป็นนักโทษ เป็นจำเลยคดีทุจริตหลายคดี เคยถูกยึดทรัพย์ และและหลบหนีคดีในต่างประเทศ
ดังนั้น หากต้องการกลับโดยไม่ต้องรับโทษ ด้วยวิธีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมือนกับที่เคยทำ รับรองว่ายุ่งแน่นอน และนี่คือ “หนึ่งจุดอ่อน” ที่ไม่มีทางเกิดแลนด์สไลด์ ในแบบชนะเลือกตั้ง
ถัดมาหากจำกันได้กรณี นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานด้านยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย คนที่ถือว่า นายทักษิณ ไว้ใจได้เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าเพียงชั่วข้ามคืน นายทักษิณ จะรีบออกมาปฏิเสธ และแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรวดเร็ว หลังจากมีปฏิกิริยาไม่พอใจอย่างรุนแรงจากสังคม จนทำให้ประธานยุทธศาสตร์คนนี้ต้องหายเงียบไปนาน
ประการถัดมา ที่จะขัดขวางไม่อาจทำให้พรรคเพื่อไทยเกิดอาการ “แลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้อีก ก็คือ ในสนามมีตัวเลือกมากกว่าเดิม และสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว
หากบอกว่า ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน เป็นหัวใจของพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะใช่ แต่นาทีนี้ทุกพรรคต่างก็เตรียมลงแข่งขัน หลายพื้นที่ก็มีคู่แข่งที่มาจากพรรคเดียวกัน มีฐานเสียงทับซ้อนกัน เช่น พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือ พรรคก้าวไกล ที่กำลังเปิดเกมรุกในแทบทุกพื้นที่ ซึ่งพรรคหลังนี่แหละที่จะแย่งคะแนนเสียง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
นี่ยังไม่นับพรรคฝ่ายรัฐบาล ตั้งแต่พรรคภูมิใจไทย ที่ปักหลักในภาคอีสานได้อย่างมั่นคง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคพลังประชารัฐ ในยุค “สาม ป.” และในรอบแปดปีที่ผ่านมาได้เข้าไปเปลี่ยนบุคลากร มีกลไกรัฐอยู่ในมือ และแน่นอนว่า ย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งอย่างมาก แม้จะมีการระบุว่า “กระแสลุงตู่ตกลง” แต่นาทีนี้ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะหากไม่แน่จริงก็คงไม่ประคองมาได้ถึงเกือบแปดปีหรอก
เหล่านี้คือตัวแปรเท่าที่พอจำได้ ที่ขัดขวางไม่ให้พรรคเพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ และที่สำคัญ จุดอ่อนสองเรื่องหลักก็คือ กระแส “พาพ่อกลับบ้าน” กับความไม่วางใจจาก “คนรักสถาบันฯ” จากความไม่เคลียร์เรื่องแก้ไข มาตรา 112 ที่ผ่านมา ทั้งสองเรื่องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นจุดตายเหมือนกัน
ดังนั้น ไม่ว่ามองมุมไหน ทั้งในเรื่องความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจ สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปไกล และที่สำคัญกลไกอำนาจรัฐที่ยังเป็นจุดชี้ขาดก็ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่หากบอกว่าพรรคเพื่อไทย ยังคงเป็นพรรคใหญ่ที่ต้องจับตาก็อาจจะใช่ แต่หากบอกว่าจะชนะแบบ “แลนด์สไลด์” ถล่มทลายเหมือนเกือบยี่สิบปีก่อนนั้น คงทำได้แค่ “ฝันกลางวัน” เท่านั้น แต่ทุกคนก็ย่อมมีสิทธิ์ฝัน คงไปขัดคอไม่ได้ !!