xs
xsm
sm
md
lg

สภาล่ม-อุบัติเหตุยุบก่อน เข้าทางลุงตู่-โทนี่!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา – ทักษิณ ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีการส่งเสียงเตือนแบบ “เข้มๆ” มาเข้าหูอย่างต่อเนื่องในเรื่อง “สภาล่ม” โดยเฉพาะเสียงเตือนจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีรายงานก่อนหน้านี้ ว่า ได้กำชับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในกลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ช่วยกันกำชับเข้มงวด ส.ส.แต่ละพรรค เข้าร่วมประชุมสภาอย่างพร้อมเพรียง เพื่อป้องกันเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ หรือสภาล่ม เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องพิจารณาเร่งรัดให้ผ่านโดยเร็ว ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำในเรื่องนี้มาอย่างน้อยสองถึงสามครั้งแล้ว

ถัดมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็ได้ออกมาย้ำเช่นเดียวกัน โดยอ้างคำพูดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้บอกว่า วันพุธ-พฤหัสบดี หากรัฐมนตรีคนไหนว่าง ก็ให้แวะที่ไปสภาบ้าง ไม่ว่ารัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส.ก็ตาม เพราะการที่รัฐมนตรีไปฟังการประชุมสภา แม้ว่าไม่มีเรื่องของตัวเอง ก็จะเป็นโอกาสได้พบปะใครต่อใคร มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพูดไว้นานแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงกฎหมายฉบับใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี

ขณะเดียวกัน ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้มีการกำชับในเรื่องดังกล่าวเข้มเช่นกัน โดยเป็นคำสั่งของ  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่ถึงขั้นสั่งแกมขู่ ห้าม ส.ส.ของพรรคขาดประชุมสภาเป็นอันขาด และยังให้อยู่ในประชุมจนจบเวลา พร้อมทั้งยังให้มีการบันทึก หรือเช็กรายชื่อ ส.ส.ที่ขาดประชุม หรือไม่อยู่ในห้องประชุมสภาในช่วงที่กำลังมีการนับองค์ประชุม หรือลงมติในกฎหมายสำคัญ โดยให้รายงานเป็นหนังสือไปถึง พล.อ.ประวิตร ได้ทราบทุกครั้ง

มีรายงานว่า ในการประชุมพรรค พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค ได้กำชับ ส.ส.ของพรรคให้เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และอยู่จนเลิกประชุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาองค์ประชุม หรือสภาล่มตามมา โดยขอให้ทั้ง ส.ส. และรัฐมนตรีของพรรคมาประชุมสภา

ทั้งนี้ ในการประชุมสภา เมื่อต้องมีการนับองค์ประชุม จะพิมพ์รายชื่อ ส.ส.ออกมาดู และจะส่งให้ พล.อ.ประวิตร ดูว่ามีรัฐมนตรี หรือ ส.ส.คนไหน ขาดประชุม และเป็นของพรรคการเมืองใดบ้างในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะพรรคพลังประชารัฐ เพียงพรรคเดียว โดย พล.อ.ประวิตร กำชับหลายครั้งและพูดทิ้งท้ายว่า “ถ้าองค์ล่มบ่อยๆ ก็จะโดนบอกให้ยุบสภา”

ก็ต้องถือว่า “เครียด” กันพอสมควร หากพิจารณาจากสถานการณ์ และสาเหตุที่ต้องเข้มข้นกันแบบนี้ เนื่องจากเอาเข้าจริง เสียงของฝ่ายรัฐบาล ที่บอกว่า มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านหลายสิบเสียง แต่ระยะหลังเริ่ม “ไม่ชัวร์” มากขึ้น ทั้งในพรรคพลังประชารัฐเอง หลังจากเกิดเหตุ “ท้าทาย” ในช่วงโหวตในศึกซักฟอกในปลายสมัยประชุมคราวที่แล้ว รวมไปถึงเรื่องของวาระสภา ที่เลยกลางเทอมมาแล้ว บางคนก็เริ่มมีปัญหา เริ่มมองหาสังกัดใหม่ ตามประสานักเลือกตั้งที่คิดว่าตัวเอง “ต้องรอด”

โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขในประเด็นบัตรเลือกตั้งสองใบ มีผลบังคับใช้ และมีการมองว่าทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวการย้ายพรรคกันมากขึ้น ทำให้เสียงสนับสนุนในแต่ละพรรคมีความไม่แน่นอนมากขึ้น และนาทีนี้ ก็ต้องจับตาบรรดา ส.ส.จากพรรคเล็กมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากคำพูดทิ้งท้ายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในระหว่างประชุมพรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ำกับ ส.ส.ของพรรค ว่า “ถ้าองค์ล่มบ่อยๆ ก็จะโดนบอกให้ยุบสภา” นั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง พร้อมกับคำถามว่า มันเกี่ยวพันกันอย่างไร

แต่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาถึงเรื่องร่างกฎหมายสำคัญที่ต้องเร่งรัดให้ผ่านสภา และมีผลต่อนโยบายการบริหารงานของรัฐบาล รวมไปถึงบางฉบับที่ผูกพันตามรัฐธรรมนูญ บางฉบับที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน มันถึงเป็นเรื่องซีเรียส ชี้เป็นชี้ตายกันเลยทีเดียว

เพราะอย่างที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า บางฉบับที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน หากไม่ผ่านสภาก็มีทางเลือกอยู่สองทาง คือไม่ลาออก ก็ต้องยุบสภา ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นอย่างหลัง คือ ต้อง “ยุบสภา” แน่นอน แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะย้ำหนักแน่นหลายครั้งแล้วว่าจะอยู่ครบวาระ นั่นคือ จะต้องมีการเลือกตั้งในต้นปี 2566 แต่ก็อย่างว่า หากเกิดก่อนกำหนด ก็ย่อมหมายถึงต้องเกิด “อุบัติเหตุ” ทางการเมืองในที่นี้ก็ย่อมมีผลต่อเนื่องมาจาก “สภาล่ม” นั่นแหละ

อย่างไรก็ดี หากมีการยุบสภาที่มาจากสาเหตุดังกล่าว หรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนกำหนด คำถามก็คือมันจะ “เข้าทางใคร” เข้าทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ หรือพรรคเพื่อไทย ในนามของ “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาคดีทุจริตที่หลบหนีคดีในต่างประเทศที่กำลังหมายมั่นปั้นมือว่าจะใช้การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นใบเบิกทางกลับประเทศแบบไม่ต้องรับโทษ

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ หากมีการยุบสภาก่อนกำหนด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เชื่อว่า จะ “เข้าทาง” เขามากกว่าใคร หรือพรรคการเมือง เพราะแม้ว่าจะมีข้อกังวลอย่างยิ่งหากมีการยุบก่อนที่กฎหมายลูกสองฉบับจะผ่านสภาเสร็จสิ้น โดยเฉพาะในเรื่องวิธีคำนวณคะแนนเลือกตั้งเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. ว่าใช้แบบไหนกันแน่ จะกลับไปใช้วิธีจัดสรรปันส่วนผสม หรือแบบผสมผสานแบบกลางๆ ที่เอื้อให้กับพรรคเล็ก และพรรคขนาดกลางมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากถึงเวลานั้นเชื่อว่าถึงอย่างไรก็ต้องมีทางออกอยู่ดี

แต่เอาเป็นว่าหากให้เดาใจ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากเลือกตั้งคงอยากให้มีการเลือกตั้งแบบวิธีเดิม โดยเฉพาะการนับคะแนนในลักษณะจัดสรรปันส่วนผสมมากกว่า

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจาก “เงื่อนไข” ด้านเวลา ก็ต้องบอกว่า เขามีเวลาในช่วง “นาทีทอง” ในช่วง 6-7 เดือนนับจากนี้ เพราะหากสามารถควบคุมเสียงในสภา ไม่ล่ม จนสามารถผ่านกฎหมายลูกสองฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้สำเร็จ ก็ต้องใช้เวลาประมาณนี้ และเชื่อว่า บรรดาพรรคใหญ่ที่ต้องการบัตรเลือกตั้งสองใบ ก็ต้องประคับประคองให้สำเร็จ จากนั้นค่อยมาว่ากันอีกทีว่าจะเจอแรงกดดันให้ยุบสภา มากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น หากบอกว่า ในช่วง 6-7 เดือนที่ว่านี้ เป็นช่วงนาทีทอง ก็ต้องจับตาดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะ “ปล่อยของ” ออกมาแบบไหนบ้าง เพราะต้องสังเกตว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา และต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี กำลังจะมีการทยอยโครงการและมาตรการช่วยเหลือประชาชนออกมาเป็นชุดใหญ่ต่อเนื่อง ทั้งในเรื่อง “บัตรสวัสดิการฯ” โครงการคนละครึ่งเฟส 4 ในเดือนมกราคม และล่าสุด เพิ่งปล่อยทีเด็ด อัดเม็ดเงินอีกกว่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ รวมไปถึงข่าวการลดราคาน้ำมันดีเซล ลงมาต่ำกว่าลิตรละ 28 บาท มันเหมือนกับว่าเตรียมพร้อมเอาไว้ตลอดเวลา !!


กำลังโหลดความคิดเห็น