“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ตอน นับถอยหลัง ยุบสภาฯ กลางปี 65
การเมืองไทย หลังจากนี้ ต้องติดตามไทม์ไลน์ขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ส.ส.และจำนวนของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้ 22 พฤศจิกายน
หลังจากเมื่อช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา
สาระสำคัญ คือมีการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ของประเทศไทยจากเดิมที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ แล้วนำคะแนนรวมทั้งหมดของทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครส.ส. ทั่วประเทศมาคิดคำนวณ จำนวนส.ส.พึงมีในสภาฯ โดยมีการใช้ไปกับการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวคือการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562
เมื่อรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขและประกาศใช้แล้ว ต่อจากนี้ไปการเลือกตั้ง จะกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบคือบัตรเลือกตั้งส.ส.เขตและบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ โดยแยกนับคะแนนของทั้งสองบัตร ซึ่งระบบบัตรสองใบเคยมีการใช้มาแล้วในประเทศไทยถึงสี่ครั้ง คือการเลือกตั้งปี 2544 2548 2550 และ 2554
สิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้ก็คือ จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญที่ถูกแก้ไข นั่นก็คือ
1/ พรบ.ว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 แก้ไขเพื่อกำหนดวิธีการคำนวณคะแนนและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับสมัคร การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และเรื่องอื่นๆ เพื่อให้สอดรับกับบัตรสองใบ
และ2/ พรบ.พรรคการเมืองฯ พ.ศ. 2560 แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนของพรบ.พรรคการเมือง ประเด็นที่น่าจับตาก็คือ มีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน อาจถือโอกาสเสนอให้โละทิ้ง ระบบการหยั่งเสียงผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไพรมารีโหวต
เพราะเป็นระบบที่พรรคใหญ่ พรรคกลางและพรรคเล็ก มองว่ามีขั้นตอนยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายเยอะ ที่สำคัญ เสี่ยงต่อการทำผิดขั้นตอน จนอาจทำให้พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรค ผู้สมัครส.ส.ถูกเอาผิดได้
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 131 บัญญัติว่า การเสนอร่างแก้ไขพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จะเสนอได้แค่ 2 องค์กรเท่านั้นคือ 1.เสนอในนาม คณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภารกิจนี้ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. และ 2.เสนอโดย ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันเสนอแก้กฎหมาย
ที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะสี่พรรคสำคัญ คือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เห็นตรงกันแล้วว่า จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.เลือกตั้งและพรบ.พรรคการเมือง ในนามพรรคร่วมรัฐบาล โดยขณะนี้มีการตั้ง คณะทำงานในนามพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว
โดยมี วิเชียร ชวลิต จากพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งได้ประชุมไปหนึ่งนัดแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาฝ่ายสำนักงานกกต.โดยพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ที่กำลังจะกลายเป็น อดีตเลขาธิการกกต. ก็มีข่าวว่า ให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานกกต. ยกร่าง แก้ไขพรบ.ทั้งสองฉบับไว้ เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งเลขาธิการกกต.เคยนำเรื่องนี้ไปหารือกับรัฐบาลเพื่อให้ครม.เสนอร่างดังกล่าวไปยังรัฐสภา
รวมถึง พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็มีการยกร่างเตรียมเสนอประกบร่างของกกต.และพรรคร่วมรัฐบาลเช่นกัน
เท่ากับว่า จะมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.การเลือกตั้งส.ส.และพรบ.พรรคการเมือง มาจากสามทางคือ
1.ร่างของคณะรัฐมนตรีที่จะเสนอร่างโดยคำแนะนำ
ของกกต.หรือจะเรียกว่าร่างของกกต.
2 ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล
3. ร่างของพรรคฝ่ายค้าน
กระบวนการนั้นจะต้องเสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา คือส.ส.และสว. เพราะเป็นกฎหมายพิเศษเหนือกว่ากฎหมายทั่วไป จึงชงเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาไปได้เลย ทำให้กระบวนการแก้กฎหมายเร็วกว่าปกติ
หลังที่มีเสนอร่างฯแล้ว รัฐสภาจะมีเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือ6 เดือน ซึ่งหากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอมา
และหลังจากนั้น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพรบ.ที่แก้ไขแล้ว ให้รัฐสภาส่งร่างที่แก้ไข ไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น โดยหากไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ก็ดำเนินการตามขั้นตอนเรื่องการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป
ดูจากไทม์ไลน์ข้างต้น หากรัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคฝ่ายค้าน เสนอร่างแก้ไขพรบ.ทั้งสองฉบับในช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือนธันวาคม และมีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ รัฐสภา ก็มีเวลาพิจารณาประมาณไม่เกินหกเดือน หรือไปถึงกลางปีหน้าช่วงพฤษภาคมถึงมิถุนายน รวมถึงขั้นตอนอื่นๆ บวกไปแล้วก็ประมาณ 10-15 วัน ก็จะอยู่ในช่วงกลางปีหน้าพอดี
หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ โดยพรรคร่วมรัฐบาลใช้เวลาเต็มแมกซ์ อย่างช้าที่สุด ขั้นตอนทุกอย่างจะเสร็จในช่วงกลางปีหน้า
แต่พรรคฝ่ายค้านคงไม่ยอม จะเร่งให้เร็วกว่านั้นแน่นอน เพราะต้องการให้เสร็จช้าสุดไม่เกินเมษายน ปีหน้า
และถึงตอนนั้นเมื่อทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว มีการประกาศใช้กฎหมายสองฉบับที่แก้ไขเรียบร้อย หากพลเอกประยุทธ์ จะยุบสภา ก็ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด
เนื่องจากเมื่อถึงตอนนั้น จะมีกระแสเรียกร้องให้ยุบสภา ดังกระหึ่มแน่นอน ด้วยเหตุผลว่า สภาชุดปัจจุบัน มาจากระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว ไม่ได้มาจากกติกาของรัฐธรรมนูญที่ใช้ตอนนี้ จึงควรคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกส.ส.ตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ปัจจุบัน
ถึงตอนนั้น กระแสยุบสภา จะบีบคั้นหัวใจ บิ๊กตู่และพลังประชารัฐแน่นอน