“ส.ว.คำนูณ” เผย กมธ.รัฐสภา เห็นต่างกันเรื่องความมีอิสระของ ตร. ฟากหนึ่งกันการเมืองออก ให้ ผบ.ตร.นั่งประธาน ก.ตร. และตั้ง ก.ตช.ให้นายกฯ เป็นประธานดูเฉพาะนโยบาย ขณะอีกฝ่ายคัดค้าน เพราะตำรวจไม่ใช่องค์กรอิสระ จะตัดฝ่ายบริหาร หรือนักการเมือง ออกไม่ได้ แต่ต้องมีองค์ประกอบ ก.ตร.ที่เหมาะสม และมีกฎเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายที่ชัดเจน
วันนี้ (28 พ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “ตำรวจควรมี ‘อิสระ’ แค่ไหน ?” มีเนื้อหาระบุว่า ปัจจัยกำหนดโครงสร้างองค์กรในร่างกฎหมายใหม่! เอาเข้าจริงแล้ว หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เป็นแกนกลางของการปฏิรูปตำรวจ ผ่านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการของรัฐสภา และมีความเห็นต่างจนถึงขั้นจะต้องลงมติกันในกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับการบริหารงานภายในขององค์กรตำรวจที่ว่าจะเอา ‘ก. เดียว’ หรือ ‘2 ก.’ กันในวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.15 น. ก็คือ...
ความเป็น ‘อิสระ’ ขององค์กรตำรวจ !
หรือนัยหนึ่ง อำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ !!
กรรมาธิการฟากหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นอนุกรรมาธิการที่ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยศึกษาพิจารณาเฉพาะประเด็นสำคัญ 3-4 กลุ่ม เห็นว่า ตำรวจต้องอยู่ห่างฝ่ายการเมืองในระดับที่มีนัยสำคัญ การบริหารงานภายในรวมทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายควรเป็นเรื่องการจัดการภายในของตำรวจกันเองภายใต้กฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ให้เข้มข้นขึ้นในกฎหมายหลัก ฝ่ายการเมืองควรคุมเฉพาะกรอบนโยบายเท่านั้น
นายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรมาเป็นประธานองค์กรบริหารที่ชื่อ ‘ก.ตร.’ ตามร่างฯ ที่ผ่านวาระ 1 ซึ่งกำหนดไว้ให้มี ‘ก. เดียว’ เท่านั้น
แต่ควรเป็น ผบ.ตร.!
แล้วหาที่หาทางใหม่ให้นายกรัฐมนตรี โดยแยกงานนโยบายไว้ให้อยู่กับอีกองค์กรหนึ่งเพิ่มขึ้นมาชื่อ ‘ก.ตช.’ กลายเป็นมี ‘2 ก.’ ตามแบบที่มีอยู่ในกฎหมายปัจจุบัน ให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นพระประธานตรงนั้น พร้อมพรั่งด้วยผู้แทนหน่วยราชการภายนอกทั้งด้านความมั่นคงและด้านบริหารราชการแผ่นดิน
โดยตามตุ๊กตาบทบัญญัติรายมาตราในส่วนนี้ที่อนุกรรมาธิการไปศึกษายกร่างมา ก.ตช.ไม่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว
ย้ำอีกที - ไม่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่ตำแหน่งเดียว — ไม่ยกเว้นแม้แต่ตำแหน่ง ผบ.ตร.
เรียกว่าไปไกลกว่ากฎหมายปัจจุบันเสียอีก เพราะกฎหมายปัจจุบันยังคงกำหนดให้ ก.ตช.พิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.
ความคิดเห็นกรรมาธิการฟากนี้นอกจากจะเห็นว่างานนโยบายกับงานบริหารควรจะแยกจากกันแล้ว เมื่ออภิปรายกันลงลึกแล้วยังให้เหตุผลว่าต้นเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงในองค์กรตำรวจ โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย การวิ่งเต้น การใช้อามิส คือการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง หากกันฝ่ายการเมืองออกไปให้ตำรวจดูแลกันเอง จะแก้ปัญหาได้
กรรมาธิการอีกฟากเห็นต่าง!
โดยเห็นว่าองค์กรตำรวจแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น แต่ก็หาใช่องค์กรที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารอย่างศาล หรือกึ่งอิสระอย่างองค์กรอัยการ หากยังคงเป็นข้าราชการประจำในสังกัดฝ่ายบริหาร โดยเมื่อก่อนเป็นระดับกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาแยกออกมาเป็นสำนักงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี
จะตัดฝ่ายการเมืองที่มาจากประชาชนที่ถืออำนาจบริหารออกไปหาได้ไม่
เพราะภารกิจของตำรวจคืองานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบภายในประเทศ เป็นนโยบายสำคัญของฝ่ายการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศทุกชุด
ฝ่ายการเมืองนั้นเมื่อต้องรับผิดชอบต่อสภาและต่อประชาชน ก็จะต้องมีเครื่องมือที่พอจะเป็นหลักประกันในการปฏิบัตินโยบายให้สำเร็จด้วย
นั่นคือ อำนาจในการคัดเลือกข้าราชการประจำผู้ปฏิบัติ
ก็เหมือนการเลือกข้าราชการประจำผู้ที่จะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงและอธิบดีในกระทรวงทบวงกรมอื่นนั่นแหละ ที่จะต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่มีคณะกรรมการระดับกระทรวงทบวงกรมจัดการกันเองเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่ให้ฝ่ายการเมืองกระทำการตามอำเภอใจ หรือเพียงภายใต้กฎเกณฑ์ที่หลวมๆ
ต้องมีองค์ประกอบที่เหมาะสมใน ก.ตร.
ต้องมีกฎเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายให้ชัดเจนอยู่ในกฎหมายหลักในทุกมิติ อาทิ เกณฑ์ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งแต่ละขั้น เกณฑ์ห้ามย้ายข้ามห้วย เกณฑ์อาวุโสและความรู้ความสามารถที่ตรงตามรัฐธรรมนูญ ระบบคะแนนประจำตัว หรือแม้แต่การให้ประชาชนผู้รับบริการมีโอกาสร่วมประเมิน ฯลฯ
ต้องมีกฎเกณฑ์และกระบวนพิจารณารักษาความเป็นธรรมให้กับข้าราชการประจำให้ชัดเจน
ต้องมีบทลงโทษการแทรกแซงการแต่งตั้งทั้งทางวินัยและอาญา
ต้องมีองค์กรพิจารณาวินิจฉัยที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้าร่วมด้วย
ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในระดับที่เหมาะสม
ฯลฯ
อันที่จริง สารัตถะสำคัญที่สุดอยู่ตรงนี้
เพราะต่อให้ตำรวจจัดการดูแลกันเอง กันฝ่ายการเมืองออกไป แต่หากปราศจากการปฏิรูปกฎเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายให้ชัดเจนครอบคลุมทุกมิติในกฎหมายหลัก ก็ไม่อาจแก้ปัญหาองค์กรตำรวจได้
ซึ่งก็จะเป็นอีกประเด็นสำคัญที่สุดที่คณะกรรมาธิการอาจจะมีความเห็นต่างกันมาก จนถึงขั้นต้องลงมติชี้ขาด
จะเก็บความมาเล่าให้ฟังต่อไปหากถึงเวลานั้น
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
28 พฤศจิกายน 2564