รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบไทยร่วมเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานกับจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกแก่ปัญหาด้านการพัฒนาพลังงาน
วันนี้ (23 พ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนด้านพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง (The Belt And Road Energy Partnership: BREP) ของสำนักงานพลังงานแห่งชาติจีน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและช่วยเหลือประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาพลังงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมี 30 ประเทศที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงาน (BREP) เช่น อัฟกานิสถาน คูเวต อิรัก ปากีสถาน เวเนซุเอลา ลาว เมียนมา เนปาล เป็นต้น พร้อมกันนี้ ครม.ได้มีมติเห็นชอบเอกสาร 2 ฉบับเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้านพลังดังนี้
1. ปฏิญญาร่วมการจัดตั้งความเป็น BREP (Joint Declaration on Building the BREP) เป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ของประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานร่วมกันภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลก เช่น การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน การพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. หลักการความร่วมมือและการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมของหุ้นส่วน ด้านพลังงาน (Cooperation Principles and Concrete Actions of the BREP) เป็นเอกสารที่แสดงถึงแนวทางการดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงานระหว่างประเทศด้านพลังงาน เช่น 1) ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน 2) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านพลังงานร่วมกัน ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การส่งเสริมความสัมพันธ์กับองค์กรระหว่างประเทศด้านพลังงาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทน ระบบพลังงานอัจฉริยะ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสะอาด และการพัฒนาระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์
สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนด้านพลังงานในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์และสร้างโอกาสในการพัฒนาตลาดและโครงข่ายพลังงาน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและระบบการจัดการที่หลากหลาย สามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและมีทางเลือกในการพัฒนาพลังงานโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานของไทยและสำนักงานพลังแห่งพลังงานแห่งชาติจีน ได้ดำเนินการความร่วมมือด้านพลังงานในกรอบทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประชุม China-Thailand Energy working Group (CTEWG) โดยในปี 2563 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันหารือแนวทางความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกสาขาพลังงาน ได้แก่ 1) สาขาปิโตรเลียม ไทยเสนอความร่วมมือกับจีนผ่าน 4 โครงการ เช่น การจัดเก็บและการขนส่งก๊าซโดยใช้เรือขนาดเล็ก การลงทุนร่วมกันในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ LNG และโรงไฟฟ้า 2) สาขาไฟฟ้า เช่น ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกัน จัดประชุมความร่วมมือด้านพลังงานใหม่ (New Energy) และ Smart Grid 3) สาขาพลังงานทดแทน แลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการลงทุนในอุปกรณ์ด้านการอนุรักษ์พลังงาน และ 4)สาขาพลังงานนิวเคลียร์ แลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและความคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ร่วมกัน ผ่านการประชุม JCCT-PNE (Joint Commission of China - Thailand Cooperation in the Peaceful Uses of Nuclear Energy Meeting)