xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! “บิล เกตส์” จับมือ “วอร์เรน บัฟเฟตส์” สร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เนเทรียมสุดล้ำ 4 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือน “ระบบหล่อเย็นด้วยโซเดียมเหลว” ติดไฟง่ายกลัวระเบิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/เอพี - กระแสต้านโลกร้อนมาแล้ว บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์และวอร์เรน บัฟเฟตส์ พ่อมดทางการเงินแห่งวอลสตรีทจับมือร่วมกันสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เนเทรียมที่ใช้ในเรือดำน้ำกองทัพสหรัฐฯเพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนแทนการใช้พลังงานจากถ่านหินในรัฐไวโอมิง แต่ทว่าผู้เชี่ยวชาญเตือนระบบหล่อแท่งปฎิกรณ์นิวเคลียร์ด้วยระบบหล่อเย็นด้วยสารโซเดียมเหลวจะเป็นอันตรายมากกว่าระบบหล่อเย็นด้วยน้ำตามแบบปกติเนื่องมาจากไม่เสถียรและยังติดไฟง่าย

หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ รายงานเมื่อวานนี้(16 พ.ย)ว่า บริษัทเทอร์ราพาวเวอร์ (TerraPower) แถลงวันอังคาร(16)ว่า ระหว่างที่เรื่องคำขอการอนุมัติยังคงค้างอยู่ในระดับรัฐบาลกลางสหรัฐฯและระดับท้องถิ่น ทางบริษัทเตรียมที่จะก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 345 เมกะวัตต์ที่โรงงานพลังงานนอตัน( Naughton Power Plant) ในเคมเมอร์เรอร์(Kemmerer) รัฐไวโอมิง ห่างออกไปจากเมืองซอลต์ เลค ซิตี้(Salt Lake City)ทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 130 ไมล์

ยูเอสเอทูเดย์ชี้ว่า โปรเจกต์นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 เศรษฐีพันล้านสหรัฐฯ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และวอร์เรน บัฟเฟตส์ พ่อมดการเงินแห่งวอลสตรีท

บัฟเฟตส์เป็นเจ้าของโรงงานพลังงานนอตันซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าจากถ่านหินที่กำลังจะปิดตัวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของบริษัทที่จะหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เป็นต้นว่า พลังงานลม ซึ่งโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนทำลายบรรยากาศโลก และถูกพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนว่าถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศโลก

ขณะที่เกตส์ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทเทอร์ราพาวเวอร์นั้นกำลังจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทจีอี-ฮิตาชิ(GE-Hitachi)ในการสร้างโรงงานขึ้นมาที่จะสามารถทำงานได้หลังจากได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยเจ้าหน้าที่โรงงานระบุว่า มีแผนที่จะนำเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตั้งข้างไปกับโรงงานไฟฟ้าถ่านหินโดยต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีรวมไปถึงระบบหล่อเย็นด้วยน้ำและสายส่งไฟฟ้ากำลังสูง โรงงานพลังงานงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะเกิดใหม่นี้คาดว่าจะมีอายุการทำงานไปได้ 60 ปี

คาดว่าจะมีการใช้คนงานจำนวน 2,000 คนสำหรับการก่อสร้างในช่วงเวลาที่พีคสุดของเฟส และเจ้าหน้าที่อีก 250 คนสำหรับปฎิบัติการภายในโรงงานหลังการสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว

โรงงานไฟฟ้ากำลังการผลิต 340 เมกะวัตต์จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังบ้านเรือนได้ราว 250,000 หลังพร้อมกับความสามารถจ่ายไฟฟ้าสูงสุด 500 เมกะวัตต์ในช่วงที่มีความต้องการมาก

เอพีรายงานว่า ระบบเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ เนเทรียม( Natrium reactor) ที่ใช้ในโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของเกตส์และบัฟเฟตส์นี้คล้ายคลึงกับระบบเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ของเรือดำน้ำกองทัพสหรัฐฯซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก

โดย จอห์น บาร์ราสโซ( John Barrasso )ส.วรัฐไวโอมิงจากพรรครีพับลิกันชี้กับยูเอสเอทูเดย์ว่า ระบบเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์เทเทรียมนี้จะเป็นอนาคตพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯและการที่เทคโนโลยีที่ล้ำยุคนี้เกิดขึ้นในรัฐไวโอมิงซึ่งถือเป็นเมืองหลวงทางพลังงานของสหรัฐฯจะเป็นการช่วยทำให้เศรษฐกิจของรัฐเติบโต

เอพีรายงานว่า ประธานบริหารบริษัทเทอร์ราพาวเวอร์ คริส เลอเวค(Chris Levesque) ชี้ว่า “เนเทรียมจะเป็นการพัฒนาถัดไปของความปลอดภัย ที่สำคัญคือมันจะไม่พึ่งแหล่งพลังงานจากภายนอก ปั้ม หรือเครื่องมืออื่นเพื่อช่วยการกู้ระบบของโรงงานยามเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน” โดยเขาอ้างไปถึงเหตุวิกฤติโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะของญี่ปุ่นที่เกิดล่มหลังคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2001

และตัวเขายังอ้างไปถึงการใช้ระบบหล่อเย็นด้วยโซเดียมเหลวที่จะนำพาความร้อนออกไปได้อย่างรวดเร็วและสามารถทำให้เตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ปิดตัวได้เร็วขึ้นหากเกิดเหตุฉุกเฉินเมื่อเทียบกับการใช้ระบบหล่อเย็นด้วยน้ำตามปกติ

เอพีชี้ว่า แต่ทว่ายังมีหลายคนตั้งข้อสงสัยถึงประโยชน์ในการใช้ระบบหล่อเย็นด้วยโซเดียมเหลว โดยหนึ่งในนั้นคือ เอ็ดวิน ไลแมน(Edwin Lyman) ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้วิตกกังวล( Union of Concerned Scientists) แสดงความเห็นว่า

“การใช้โซเดียมเหลวมีปัญหามากมาย มันเป็นสสารที่ไม่เสถียรและมันสามารถติดไฟได้หากว่าเกิดสัมผัสกับอากาศหรือน้ำ” และเขากล่าวต่อว่า “ด้วยความสัจจริงผมไม่เข้าใจในแรงจูงใจนี้” และได้ชี้ว่า “มีคนบางส่วนที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างมากต่อมัน และคนเหล่านี้สามารถชนะที่นี่ในวันนี้ด้วยการหว่านล้อมบิล เกตส์ว่านี่เป็นเทคโนโลยีล้ำที่ดีที่สมควรต้องติดตาม”

เอพีรายงานมีหลายประเทศในโลกรวมสหรัฐฯ มีการทดลองใช้เตาปฎิกรณ์ระบบหล่อเย็นด้วยโซเดียมเหลวเป็นเวลาหลายสิบปีแต่ทว่ามีแค่รัสเซียเท่านั้นที่ใช้เตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์หล่อเย็นด้วยโซเดียมเหลวสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น