บีโอไอชี้ทิศทางการลงทุนตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG บูมสุดๆ รับเทรนด์ธุรกิจยั่งยืน พบให้ส่งเสริมฯ กว่า 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2558-ก.ย. 2564 ขอรับส่งเสริมฯ 2,829 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 677,157 ล้านบาท พร้อมผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้แข็งแกร่งเตรียมร่วมมือ NIA และ สอวช. จัดมหกรรม BCG Startup Investment Day ต้นปี 2565
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ได้กำหนดให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio - Circular - Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งบีโอไอฯ ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคเกษตรและมีการปรับมาตรการให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่ม BCG ตั้งแต่ปี 2558-กันยายน 2564 มีจำนวน 2,829 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 677,157 ล้านบาทและมีโอกาสที่จะเติบโตต่อเนื่องหลังจากที่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขภาวะโลกร้อน
"ปัจจุบันมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอครอบคลุมกิจการจำนวนมากตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง และบีโอไอได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามแนวทาง BCG ในหลายด้าน เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนากิจการเกษตรที่ยั่งยืน ปรับปรุงประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์โดยให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม คือ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงแยกก๊าซ ในกรณีใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน ฯลฯ" เลขาฯ บีโอไอกล่าว
สำหรับการขอรับส่งเสริมฯ ปี 2558-ก.ย. 2564 พบว่า 5 อันดับแรกกิจการ BCG ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1. กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (รวมถึงไฟฟ้าจากขยะ) 289,007 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2. กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) หรือสิ่งปรุงอาหาร (Food Ingredient) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย 94,226 ล้านบาท 3. กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปต่อเนื่องจากการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในโครงการเดียวกัน 40,998 ล้านบาท 4. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร 25,838 ล้านบาท 5. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 22,250 ล้านบาท
ขณะที่ 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 64) มีสัญญาณบ่งชี้อัตราเติบโตที่ดี โดยมีกิจการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามแนวทาง BCG 564 โครงการ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 74% และมีมูลค่าลงทุน 128,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีก่อน 160% และสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในปี 2563 ทั้งปี (93,883 ล้านบาท) คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรม BCG ของไทยจะมีมูลค่า 25% ของ GDP ซึ่งบีโอไอพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่จะนำเป้าหมายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงเตรียมจัดมหกรรม BCG Startup Investment Day ต้นปี 2565 เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นช่วง ก.พ. เพื่อเป็นเวทีในการรวบรวมมาตรการต่างๆ ที่จะให้เกิดการสนับสนุนและพัฒนา Startup ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ด้าน BCG เพิ่มขึ้น
“งานดังกล่าว บีโอไอร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนให้ Startup ที่มีศักยภาพได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมาตรการสนับสนุนต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ Startup ให้แข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ด้วย” เลขาฯ บีโอไอกล่าว