xs
xsm
sm
md
lg

ต้อนรับลอยกระทงปีนี้ คดี “บิ๊กอ๊อด” ลอยมาเป็นพรวน **ชีวิตดุจดั่งรถถัง ของ “มาดามรถถัง” นพรัตน์ กุลหิรัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

** ต้อนรับลอยกระทงปีนี้ คดี “บิ๊กอ๊อด” ลอยมาเป็นพรวน

เดือนพฤศจิกายนนี้ มีหลายเรื่องราวที่ฉาวๆ เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. และนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวพันกับคดี “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา และเรื่องเงินๆ ทองๆ ในสมาคมฟุตบอลฯ

เริ่มช่วงจากต้นเดือน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดี “บอส กระทิงแดง” ที่ผลสอบชุด “อ.วิชา มหาคุณ” เป็นประธาน สรุปผลสอบออกมาว่า มีข้าราชการตำรวจระดับสูงเกี่ยวข้องกับการจัดให้ “รศ.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม” นักวิชาการ พบกับ “พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น” นักวิทยาศาสตร์ (สบ 4) กองพิสูจน์หลักฐาน จนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขความเร็วรถยนต์ในคดี และเป็นเหตุผลให้พนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส วรยุทธ”

และในการสอบสวนข้อเท็จจริงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มี “พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ” จเรตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน ได้เชิญ “บิ๊กอ๊อด” ในฐานะ ผบ.ตร. ขณะนั้น มาให้ข้อมูล ซึ่ง “บิ๊กอ๊อด” ยอมรับว่า อยู่ในเหตุการณ์ ขณะที่ รศ.สายประสิทธิ์ พบกับ พ.ต.อ.ธนสิทธิ ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ประมาณเกือบ 30 นาที แต่ไม่ได้กดดัน บังคับ หรือ ชักจูง ให้ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แก้ไขเปลี่ยนแปลงความเร็วรถ และเสียงในคลิปที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐาน ก็เป็นเสียงตนเองจริง

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
แม้จะไม่ได้สั่งให้เปลี่ยนแปลงความเร็วรถ... แต่นี่ก็เท่ากับ “โป๊ะแตก” เพราะก่อนหน้านี้ “บิ๊กอ๊อด” ยืนยันขันแข็งว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพบกันของทั้งสองคน เพราะในวันเวลาดังกล่าว ตนเองไปประชุมคณะกรรมการฟุตบอลโลกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ...
ถัดมาช่วงใกล้กลางเดือนพฤศจิกายน ก็มีข่าวเกี่ยวกับ “บิ๊กอ๊อด” ว่า ...กฤษฎีกาตีความ “พล.ต.อ.สมยศ” ห้ามรับเงินเดือนนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพราะไม่ใช่ลูกจ้างสมาคมฯ หากมีการรับจริง ก็ต้องคืนเงินดังกล่าวทั้งหมด
เรื่องนี้มีที่มาที่ไป หลังจาก “พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก” อดีตเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอล ได้ทำหนังสือถึง กกท. ให้ตรวจสอบการบริหารงาน และการทำงานในสมาคมลูกหนังไทย ที่มี “บิ๊กอ๊อด” เป็นนายกสมาคมฯ ถึงเรื่องการรับเงินเดือนของนายกสมาคมฯ และสภากรรมการฯ ในช่วงปลายปี 2561 จึงมีการส่งเรื่องไปให้กฤษฎีกาตีความ ... “บิ๊กอ๊อด” ยอมรับว่า รับเงินเดือนจริง แต่บริจาคกลับให้สมาคมฯ ไปหมดแล้ว
...ตามข้อมูลระบุว่า ระหว่างเดือน มี.ค. 59 ถึงเดือน ธ.ค. 59 “บิ๊กอ๊อด” รับเงินเดือนค่าตอบแทนจากสมาคมเดือนละ 200,000 บาท... ระหว่างเดือน ม.ค.- ธ.ค. 60 ขยับขึ้นมารับเดือนละ 300,000 บาท และระหว่างเดือน ม.ค.- มิ.ย. 61 จัดกันเดือนละ 500,000 บาท

เรื่องนี้มีข้อกฎหมาย ระบุชัดว่า นอกจากต้องคืนเงินแล้ว ผู้บริหารสมาคมฯ อาจถูกนายทะเบียนสมาคมกีฬากรุงเทพมหานคร ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ!!

 พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก
ล่าสุด “ต้อนรับลอยกระทง” มีรายงานว่า เรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ที่ส่อว่าไม่ถูกต้อง โปร่งใส ในสมาคมฟุตบอลฯนี้ มีผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ถึง 8 เรื่อง ...

1. รับเงินเดือนสมาคมกีฬาฯโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2. รับเงินเดือนบริษัท ไทยลีก จำกัด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3. เอื้อประโยชน์ให้บริษัท แพลนบี มีเดีย ชนะประมูลบริหารสิทธิประโยชน์สมาคมฯ 4. ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ

5. ไม่แจ้งสถานะการเงินกองทุนฟุตบอลไทยไปฟุตบอลโลก 6. เสียภาษีไม่ถูกต้อง 7. รับเงินเดือน สนช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ขัด พ.ร.บ.กีฬา มาตรา 73(6) และ 8. นำเงินสมาคมฯ ไปให้สโมสรบางสโมสร เพื่อขัดขวางไม่ให้ลงชื่อในการตรวจสอบการบริหารงานของสมาคมฯ

ทั้ง 8 เรื่องนี้ อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร และเชื่อว่า คงมีการเรียก “บิ๊กอ๊อด” ไปชี้แจงในเร็วๆ นี้



**ชีวิตดุจดั่งรถถัง ของ “มาดามรถถัง” นพรัตน์ กุลหิรัญ

เป็นข่าวฮือฮาขึ้นมาว่า ที่บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี โดย นางนพรัตน์ กุลหิรัญ เจ้าของฉายา “มาดามรถถัง” ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ได้เตรียมความพร้อมส่งมอบรถเกราะล้อยาง สีขาว 4x4 รุ่น First Win ในการปฏิบัติภารกิจของ UN จำนวน 15 คัน เพื่อส่งมอบประเทศภูฏาน ไปประจำการในวันที่ 19 พ.ย.

เดิมนั้น รถเกราะล้อยางที่พัฒนาขึ้น “มาดามรถถัง” ตั้งใจให้ทหารไทยได้ใช้ก่อน แต่กองทัพบอกไม่มีเงินซื้อ จะให้ใช้ฟรีก็ไม่มีกฎหมายรองรับ

นพรัตน์ กุลหิรัญ หรือ “มาดามรถถัง” เริ่มก่อตั้ง บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ในปี พ.ศ. 2506 และเริ่มค้าขายกับกองทัพไทย มีสัญญาฉบับแรก ในสมัย “พลเอก ประภาส จารุเสถียร” เป็นผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2511 โดยมีสัญญาซ่อมบำรุงรถ ค้าขายอะไหล่รถให้กับกองทัพ ส่วนมากคือ การซ่อมรถต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ รวมระยะเวลา 54 ปีแล้ว

นพรัตน์ กุลหิรัญ
สิ่งที่โรงงานของ “มาดามรถถัง” ทำ มีตั้งแต่ ซ่อมรถให้กองทัพทุกชนิด ตั้งแต่ รถจิ๊ป M151 รถบรรทุกทหาร M35 รถกู้ซ่อม รถถังทุกชนิด รถถังจีน รถถังอเมริกัน M113 M60 M48

เรียกว่า ชำนาญด้านรถถังเป็นหนึ่งไม่มีสอง ซึ่งบริษัท ชัยเสรีฯ ได้ผลิตช่วงล่างทั้งหมดของรถถัง ขายตรงไปยังกองทัพต่างๆ ทั่วโลก 44 ประเทศ และยังสามารถผลิตรถเกราะล้อยางที่ออกแบบใหม่เอง เป็นรถเกราะล้อยางที่สามารถกันกระสุน กันระเบิด พัฒนาถึง 5 แบบ สามารถนำออกขายให้กองทัพได้

“มาดามรถถัง” หรือ นางนพรัตน์ กุลหิรัญ มีโปรไฟล์ที่น่าสนใจ เธอเกิดที่ย่านเยาวราช พ่อแม่ของเธอเป็นชาวจีนอพยพ นพรัตน์เป็นลูกคนที่ 7 ของพี่น้องที่มีทั้งหมด 12 คน

ครอบครัวทำกิจการค้าเหล็ก, โซ่ และเครื่องยนต์เก่า ที่สืบทอดมาจากรุ่นปู่ของเธอ ซึ่งเป็นชาวจีนที่เดินทางข้ามทะเลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2400 เรียกว่า “มาดามรถถัง” สั่งสมประสบการณ์เกี่ยวกับวงการเหล็กจากการช่วยพ่อของเธอทำธุรกิจ รวมถึงเพื่อนบ้านข้างเคียงที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับวงการเหล็กเกือบทั้งหมดมาตั้งแต่วัยเด็ก

มาดามรถถัง สำเร็จศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ และเก่งคณิตศาสตร์ ต่อมาเธอได้รับการแนะนำจากพ่อให้ศึกษาด้านภาษา เพราะเห็นว่าเป็นคนพูดจาเก่ง ชอบคบค้าสมาคม เธอจึงศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ เอกภาษาฝรั่งเศส และระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตปทุมวัน

ช่วงที่เป็นนักศึกษา “มาดามรถถัง” ถือเป็น "เด็กกิจกรรม" ที่เข้าร่วมทำกิจกรรมหลากหลาย รวมถึงได้รับโอกาสจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส และครูสอนภาษาไทยในค่ายผู้อพยพ ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

เมื่อเรียนจบ ได้สอบบรรจุเป็นครูโรงเรียนยานนาเวศ ประมาณ 5 เดือน ก่อนที่จะย้ายไปเป็นครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนเก่าของเธอ

รถเกราะล้อยาง รุ่น  First Win
จากนั้น ได้แต่งงานกับ “หิรัญ กุลหิรัญ” ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการซ่อมรถและดัดแปลงเครื่องยนต์ ที่ภายหลังได้เริ่มติดต่อกับกองทัพในลักษณะตัวแทนจัดหาอุปกรณ์เครื่องยนต์ และ ซ่อมบำรุงช่วงล่างให้กับรถบรรทุก

รากฐานธุรกิจของ “มาดามรถถัง” ต้องบอกว่า มาจากการที่เธอเป็นผู้มีทักษะด้านการเจรจา และเก่งภาษา ทั้งไหวพริบการพูดคุย จนสามารถเข้าไปในโรงงานผลิตที่เป็นเขตหวงห้ามของสหรัฐฯ จนศึกษาวิธีผลิตและนำความรู้ต่างๆ กลับมาบอกสามี แล้วร่วมกันสร้างโรงงานที่ประเทศไทยตามแบบสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาเจ้าของโรงงานสหรัฐฯ ที่เธอติดต่อด้วยได้เดินทางมาเยี่ยม และขอเข้าชมโรงงาน

จากนั้น บริษัทของมาดามรถถัง ค่อยๆ พัฒนาจนเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ว่ากันว่า ตั้งแต่ส่งออกรถถัง และชิ้นส่วนเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 “มาดามรถถัง” ลุยเดี่ยวไปขายที่ต่างประเทศด้วยตัวเองมาตลอด

เธอเล่าว่า ธุรกิจฉันไม่เหมือนใครและไม่ง่ายเลย ลำบากสุดๆ กว่าจะมีวันนี้ กว่าจะทำอะไรขึ้นมาได้ กว่าคนจะยอมรับ หลายสิบปี เรียกว่า ทำมามากกว่าครึ่งชีวิตแล้ว ต่อไปทำอะไรไม่ง่าย ต้องลำบากทั้งนั้น

“นพรัตน์” ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้หญิงที่เป็นมิตร จิตใจโอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น กลายมาเป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงงานผลิตรถถังรายใหญ่หนึ่งเดียวของไทย จนเป็นที่รู้จักของคู่ค้าต่างชาติ ในนาม “Madam TANK” หรือ มาดามรถถัง นั่นเอง.



กำลังโหลดความคิดเห็น