xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.สถิตย์” ย้ำประชาธิปไตยต้องมีการถ่วงดุลอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ว.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้่ำ อำนาจอธิปไตยต้องแบ่งออกเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ป้องกันการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เผย หลังบทเฉพาะกาล รธน.ปัจจุบันสิ้นสุด วุฒิสมาชิกจะมาจากตัวแทนสาขาอาชีพ ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจองค์กรอื่นๆ

เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ และประชาชน 1 แสนกว่าคน เข้าชื่อร่วมกันเสนอ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายเกริ่นนำว่า “อำนาจนำไปสู่การฉ้อฉลอำนาจ อำนาจเบ็ดเสร็จนำไปสู่การฉ้อฉลอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ”

หลักคิดนี้สะท้อนถึงความคิดประชาธิปไตยที่ให้อำนาจมาจากประชาชน ดังคำกล่าวที่ว่า “ประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” ซึ่งเป็นการแสดงถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และแท้ที่จริงอำนาจอธิปไตยมีเพียงอำนาจเดียว แต่แบ่งอำนาจหน้าที่ออกไปเป็นอำนาจหน้าที่ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ

ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่หลักในการบัญญัติกฎหมาย ฝ่ายบริหารมีหน้าที่หลักในการใช้บังคับกฎหมาย ฝ่ายตุลาการมีหน้าที่หลักในการวินิจฉัยพิพาททางกฎหมาย และเพื่อป้องกันไม่ให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จึงมีหลักการถ่วงดุลกันระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการออกกฎหมาย ไม่มีอำนาจใช้บังคับกฎหมาย ฝ่ายบริหารมีอำนาจใช้บังคับกฎหมายไม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยข้อพิพาททางกฎหมาย ไม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมายหรืออำนาจใช้บังคับกฎหมาย

องค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร องค์กรตุลาการ ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรเดียว องค์กรตุลาการ มีทั้งศาลยุติธรรมวินิจฉัยข้อพิพาททางกฎหมายทั่วไป ศาลปกครองวินิจฉัยข้อพิพาททางกฎหมายปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อพิพาททางกฎหมายรัฐธรรมนูญ

องค์กรบริหารหลัก คือ รัฐบาล นอกจากนั้น ยังมีองค์กรนอกรัฐบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญเรียกว่าองค์กรอิสระ คือ เป็นอิสระจากรัฐบาล เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

องค์กรนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มี 2 องค์กร คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต่างก็ทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยวุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นการถ่วงดุลภายในนิติบัญญัติด้วยกันเอง

อำนาจทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องมีคานและดุลซึ่งกันและกัน ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎร เลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารโดยนายกรัฐมนตรี มีอำนาจยุบสภา ในขณะที่วุฒิสภาควบคุมการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรบริหารที่เป็นอิสระจากรัฐบาล เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น รวมทั้งถ่วงดุลกับอำนาจหน้าที่ทางตุลาการ ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุด และเห็นชอบการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ส.ว.สถิตย์ กล่าวสรุปว่า อีกไม่นานบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดลง วุฒิสมาชิกจะมาจากการเลือกกันเองของกลุ่มสาขาอาชีพ ที่จะเป็นตัวแทนประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพ เป็นผลให้การบัญญัติกฎหมายสะท้อนความต้องการของกลุ่มอาชีพต่างๆ ประกอบกับองค์กรวุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่ในการถ่วงดุลองค์กรอื่นๆ ทั้งองค์กรนิติบัญญัติด้วยกันเอง รวมทั้งองค์กรบริหาร และตุลาการ วุฒิสภาจึงเป็นองค์กรสำคัญของประชาธิปไตยที่มีที่มาจากประชาชน และถ่วงดุลอำนาจกับองค์กรอื่นๆ เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น