xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ประชุมติดตามแนวทางพัฒนาพื้นที่สถานี กทม.และตลอดแนวเส้นบางซื่อ-หัวลำโพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.คมนาคม ประชุมติดตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง ย้ำทำตามข้อ กม.

วันนี้ (10 พ.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามนโยบาย เรื่อง แนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง ด้วย Application “Zoom” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และ เข้าร่วมการประชุม

กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย ส่งผลให้สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ลดบทบาทลง แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีแดง (ในอนาคต) ดังนั้น จึงควรนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ดังนี้

1. สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) : บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง รวมถึงจัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย พร้อมทั้งมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิม สอดคล้องกับความสมัยใหม่ และรูปแบบการดำเนินชีวิต

2. พื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ-สถานีหัวลำโพง : ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวน
แบบโครงการ Missing Link โดยเฉพาะบริเวณสถานีราชวิถี (อยู่บริเวณโรงพยาบาลรามาธิบดี) เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงการสถานีธนบุรี : แบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์วิจัยเพื่อนวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูง พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่อยู่อาศัย

2. โครงการพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางพระรามเก้า : ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะของสัญญา และทำสรุปพื้นที่ที่สามารถจัดสรรได้เพื่อดำเนินการต่อไป

ซึ่ง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับทราบ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้

1. การพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งพิจารณาแนวทางการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยเร็ว เพื่อให้มีความชัดเจนในเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

2. สำหรับการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อาจจะพิจารณาการออกแบบที่แตกต่างไปจากเดิม คือ การประกวดแบบการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง โดยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Land Developer) เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้เกิดมีแนวความคิดที่หลากหลายมากขึ้น

3. แนวทางการลงทุนของโครงการ การรถไฟแห่งประเทศไทย และ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ควรพิจารณาว่า จะมีแนวทางการลงทุนเช่นใด หากพิจารณาแล้วว่า การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยมากที่สุด เห็นควรให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องคู่ขนานกันไป เพื่อไม่ให้การดำเนินการโครงการล่าช้า






กำลังโหลดความคิดเห็น