xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”ยังขาลอย ผวาเกมยุแยงคว่ำคาสภา !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  - นิโรธ สุนทรเลขา
เมืองไทย 360 องศา

ต้องบอกว่านับจากนี้ไป สำหรับ“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐบาลภายใต้การนำของเขากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง หลังจากที่มีร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับค้างคารอการพิจารณาอยู่ในสภา และรอการโหวต ซึ่งถือว่าเป็นไฟต์บังคับที่เลี่ยงไม่ได้แล้ว

ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่าด้วยสถานะที่เป็นอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังอยู่ในสถานะ “ขาลอย” นั่นคือยังต้องหวังพึ่งพาเสียงของส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ

อย่างไรก็ดี เป็นที่รับรู้กันดีว่าในช่วงที่ผ่านมาสำหรับพรรคพลังประชารัฐยังมีปัญหาความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกันจากบรรดา “กลุ่มก๊วน” ต่างๆ ที่มีอยู่หลายกลุ่ม รวมไปถึงยังเกิดกรณีความเคลื่อนไหว “ก่อกบฎ” ท้าทายอำนาจจากความพยายามโหวต “คว่ำ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งศึกซักฟอกคราวที่แล้ว และนำไปสู่การปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

จากสาเหตุดังกล่าวยังนำไปสู่ปัญหาสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง “สามป.” เหลือความแนบแน่นแค่ “สองป.” หรือเปล่า นั่นคือ ฟากของ พล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับอีกฝั่งคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ยัง “อุ้ม” ร.อ.ธรรมนัส กับนางนฤมล ให้มีตำแหน่งเดิมในพรรคต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมาพวกเขาจะพยายามแสดงให้เห็นว่า “ยังแนบแน่น”กันดีก็ตาม

แต่เมื่อพิจารณาจากคำพูดล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ยังแสดงความกังวลในเรื่องของ “เสียงสนับสนุน” ของฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะกับร่างกฎหมายสำคัญที่ต้องเข้าพิจารณาในสภาหลายฉบับ โดยในวันเดียวกัน ยังเป็นการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ “วิป” รัฐบาลเป็นครั้งแรก ที่ทำเนียบฯ ที่มีประธานวิปคนใหม่คือ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ที่มาแทน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ส.ส. หลังจากศาลรับฟ้องคดีทุจริตสนามฟุตซอลที่จังหวัดนครราชสีมาพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวและเป็น ส.ส.ของพรรคเดียวกันรวม 3 คน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

“เป็นกลไกของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลมีหน้าที่ในการแต่งตั้งอนุมัติไปในนามของรัฐบาล ส่วนหน้าที่นั้นถือเป็นกลไกของสภาฯ สิ่งสำคัญที่สุดคือทำงานให้สภาเขาสามารถทำหน้าที่ได้เท่านั้นแหละ แต่ทั้งหมดคงไม่ใช่ประธานวิปรัฐบาลเพียงคนเดียว วิปของทุกพรรคการเมือง ต้องร่วมมือกัน ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาของความยากลำบาก เป็นช่วงเวลาที่เราควรจะต้องร่วมมือกันหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายที่จำเป็นและสำคัญ ตรงไหนที่เป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูป มากกว่าที่จะเอามาเป็นความขัดแย้งกัน สภาควรจะเป็นเช่นนั้นโดยเฉพาะในเวลานี้ ผมไปบังคับเขาไม่ได้อยู่แล้ว เวลาที่บ้านเมืองกำลังลำบาก ประชาชนกำลังเดือดร้อน มันไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้นเลยแล้วก็ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ใครจะเข้ามาสู่อำนาจ ก็ต้องเจอปัญหานี้แหละความขัดแย้งก็สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ แต่ถ้าทุกคนหันหน้ามาพูดคุยกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ร่วมมือกันทำงาน ตรงนั้นตรงนี้อันไหนไม่ดีก็ทักท้วงมา ก็แค่นั้นนั่นแหละหน้าที่ ถ้าทำอย่างนี้ได้ประเทศไทยก็คงไปไหนโลดแล้ว ผมว่านะ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว เมื่อถูกถามเรื่องที่ว่าได้กำชับอะไรกับประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ หรือไม่

ถามว่า สบายใจขึ้นบ้างหรือไม่ กับเรื่องในสภาหลังจากได้นายนิโรธ มาเป็นประธานวิปรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ถ้าถามว่าสบายใจหรือไม่ อย่าลืมว่าผมควบคุมอะไรในสภาไม่ได้ ผมควบคุมเองไม่ได้และไม่ได้เป็นคนคุม และบอกมาตลอดว่าเป็นเรื่องของวิป ทางวิปฝ่ายรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ก็ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง เรื่องไหนสำคัญเรื่องไหนจำเป็นต้องออก อันไหนที่เป็นกฎหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อมหรือการศึกษา รวมทั้งการปฏิรูปต่างๆเหล่านี้มันต้องออก ไม่ใช่จะบอกว่าไม่ออกเพื่อให้รัฐบาลล้ม ผมว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายกับประเทศเกินไปผมว่านะ”

เมื่อถามว่านายกฯ ได้เช็คความเคลื่อนไหวแล้วใช่หรือไม่ว่าไม่มีความพยายามที่จะ สร้างความปั่นป่วนในสภาจนกระทบต่อกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ทราบเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องของพรรคและหัวหน้าพรรคที่จะว่ากันมา สำหรับตนอะไรก็ได้ เพราะตนทำงานให้กับประชาชนทุกคนอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้อ่านความเห็นของ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภาแล้วหรือยัง ที่ระบุว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยรัฐบาลจะแตกกันในปีหน้ารวมทั้งชี้ว่าใกล้ที่จะเลือกตั้งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ เหรอ ก็นี่ไงเปลี่ยนตัวประธานวิปไง”

เมื่อถามว่า จริงหรือไม่ ที่มีข่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยตรงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ ยังไม่ได้คุย คุยไปครั้งนึงมั้ง ตอนแรกๆ ผมเคยคุยกับเขาครั้งหนึ่ง ก็ดี ก็คุยกัน”

เมื่อถามย้ำว่า จะทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นปึกแผ่นมากขึ้นใช่หรือไม่ โดยเฉพาะกับนายกฯ จะเป็นเนื้อเดียวกันใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า“ ถ้าไม่มีใครคอยยุแยงตะแคงรั่วก็จะดีอยู่มั้ง”

หากฟังจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังกล่าวข้างต้น ก็ทำให้พอมองเห็นภาพได้ว่ามีอยู่สองสามเรื่องหลักๆ ที่ต้องระวัง นั่นคือเสียงในสภาสำหรับการผ่านร่างกฎหมายสำคัญ การควบคุมเสียงนั่นคือตัว “ประธานวิป” และ สามก็คือ “การยุแยง” หรือความหมายก็คือ “ความขัดแย้ง” นั่นแหละ

พิจารณากันไปทีละเรื่อง ซึ่งทั้งสามเรื่องดังกล่าวมันก็คือ “เรื่องเดียวกัน” นั่นคือปัญหาความขัดแย้งที่ยังไม่เป็นเนื้อเดียวกันโดยเฉพาะภายในพรรคพลังประชารัฐนั่นแหละ และที่ผ่านมาเมื่อมีจังหวะเปลี่ยนตัวประธานวิปรัฐบาลมาเป็น นายนิโรธ หลังจากที่นายวิรัช ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ซึ่งอย่างที่รู้กันก็คือ นายวิรัช มีความแนบแน่นอยู่กับกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส นั่นเอง ขณะที่ประธานวิปคนใหม่ ถูกมองว่าเป็น “สายตรง” นายกฯ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่อยู่ในกลุ่มเดียวกับฝ่ายแรกก็แล้วกัน ดังที่พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า “ก็นี่ไงเปลี่ยนตัวประธานวิปไง”

และเรื่องสุดท้ายก็คือการ “ยุแยง” ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่า จะไม่มีปัญหาถ้าไม่มีเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น คำถามก็คือ สถานะความมั่นคงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่ายังมีความเสี่ยง รวมไปถึงรัฐบาลผสมชุดนี้ด้วย เพราะหากกฎหมายสำคัญไม่ผ่านขึ้นมา จะด้วยเหตุผลใดก็ตามก็มีทางเลือกอยู่สองทางคือ นายกฯต้องยุบสภา หรือลาออก ซึ่งหลายคนวิเคราะห์ว่าน่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า

ดังนั้นหากพิจารณากันแบบตัดตอนก็ต้องย้ำว่า สถานะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในพรรคพลังประชารัฐยัง “ขาลอย” มีความเสี่ยงสูงที่อาจต้องเกิดอุบัติเหตุจนต้องยุบสภาหรือลาออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากการ “ยุแยง” ที่ยังมีอยู่ จนทำให้เขายังอยู่ในอาการหวาดผวา ขณะเดียวกันคำถามก็คือ หากมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคพลังประชารัฐจะได้เปรียบหรือไม่ และอนาคตของ ป.ประวิตร จะเป็นเช่นไร !!



กำลังโหลดความคิดเห็น