xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก รบ.ยืนยันผลสำเร็จ นายกฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำโลก COP26 บทบาทผู้นำไทยโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล ยืนยันผลสำเร็จ นายกฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำโลก COP26 บทบาทผู้นำไทยโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศ โชว์ศักยภาพ และแนวนโยบายไทยที่โดดเด่น พร้อมเอาชนะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันนี้ (3 พ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะเดินทางกลับประเทศไทยภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเป็นคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยช่วงเย็นวันนี้ การเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) COP26 ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นการแสดงบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นการเดินทางระหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรีในรอบ 2 ปี แสดงให้เห็นว่าไทยเน้นย้ำ ให้ความสำคัญ ถึงความมุ่งมั่นของไทยร่วมกับประชาคมโลกในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยได้แสดงเจตจำนงในการยกระดับการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

โฆษกประจำสำนักฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมการประชุม COP26 เป็นเพียงบทบาทหนึ่งของประเทศไทยในการร่วมกับประชาคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้วางนโยบายของรัฐบาลให้ทุกส่วนงาน ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้ดำเนินการทั้งในส่วนของการจัดทำและปรับปรุงนโยบาย กฎหมายและการปฏิบัติเกี่ยวกับด้านพลังงาน อุตสาหกรรม การขนส่ง และการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก รวมนี้ ในอนาคตไทยยังได้วางแนวทางการขับเคลื่อนและพร้อมบูรณาการการทำงานอย่างแข็งขัน ไว้ด้านต่างๆ อาทิ

- ด้านนโยบายและกฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564-2573
- ด้านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม อาทิ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน, แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด และการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), ฐานข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, พลังงานสะอาด, การใช้ GEO-Engineering
- ด้านงบประมาณและการลงทุน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สินเชื่อสีเขียวเพื่อการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภาครัฐเตรียมจัดงบประมาณด้าน โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) และด้านสิ่งแวดล้อม

“เชื่อมั่นว่า ด้วยการสั่งการของนายกรัฐมนตรี การวางแผนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิกาศอย่างครอบคลุม จะทำให้ไทยสามารถบรรลุตามเจตนารมณ์ที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้กับประชาคมโลกและเพื่อโลกของเราได้เป็นสำเร็จผล” โฆษกรัฐบาลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น