xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ยินดีผลักดันความร่วมมือบนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 4 ยินดี อาเซียน-รัสเซีย มุ่งผลักดันความร่วมมือบนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน มองมีศักยภาพขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน

วันนี้ (28 ต.ค.) เวลา 14.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำสมาชิกอาเซียน และ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่ง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

ประธานาธิบดีรัสเซีย เน้นย้ำการเสริมสร้างความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างไรก็ดี ประเด็นที่รัสเซียให้ความสำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือที่มีพลวัต การเสริมสร้างความมั่นคง และการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ รัสเซียสนับสนุนให้มีการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค

นายกฯ กล่าวยินดีที่อาเซียนและรัสเซียได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มาถึง 3 ปีแล้ว ไทยชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์ของรัสเซียต่อโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ทำให้ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียมีความก้าวหน้า และมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในทุกมิติ ท่ามกลางช่วงเวลาที่ท้าทายนี้

ด้านการเมืองและความมั่นคง ไทยสนับสนุนให้รัสเซียพิจารณาส่งเสริมความร่วมมือที่สอดคล้องกับสาขาที่ระบุในมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก บนหลักการ 3 เอ็ม คือ การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน

ด้านเศรษฐกิจ นายกฯ เห็นว่า อาเซียนกับรัสเซียยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก ไทยยังสนับสนุนข้อเสนอของรัสเซียในการประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-รัสเซีย เพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเฉพาะในด้านพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากสามารถนำไปสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุมร่วมกันต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า ข้อเสนอ Greater Eurasian Partnership ของประธานาธิบดี ปูติน สามารถเชื่อมโยงกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 ตามแนวคิดการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภูมิภาคเพื่อการฟื้นฟูจากโควิด-19 ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งที่ทันสมัยและยั่งยืน การสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานโลก และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่าจะได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดี ปูติน ที่ประเทศไทยในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปกปี 2565








กำลังโหลดความคิดเห็น