xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ย้ำที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย การเข้าถึงวัคซีนและยาต้านโควิด-19 อย่างทั่วถึง คือปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ย้ำ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย การเข้าถึงวัคซีนและยาต้านโควิด-19 อย่างทั่วถึง คือ ปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาและฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

วันนี้ (28 ต.ค.) เวลา 12.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 18 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรี นเรนทร โมดี นายรัฐมนตรีอินเดีย ในโอกาสนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวว่า อาเซียน-อินเดีย เป็นความร่วมมือที่แนบแน่นแม้จะประสบความท้าทายจากโควิด-19 ซึ่งอินเดียยินดีให้ความร่วมมือกับอาเซียน อินเดียมีความเชี่ยวชาญด้านยา และเวชภัณฑ์เพื่อให้ภูมิภาคผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ตลอดจน อินเดียให้ความสำคัญกับความเป็นเเกนกลางของอาเซียนในนโยบายมองตะวันออกของอินเดีย โดยเห็นว่า ควรเพิ่มความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงในระดับประชาชน เพื่อเสริมความเข้มเเข็งให้กับห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจน ส่งเสริมการค้า ในภูมิภาค ทั้งนี้ อินเดียยืนยันพร้อมร่วมมือกับอาเซียนเพื่อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ นายรัฐมนตรีอินเดีย สู่การประชุมในครั้งนี้ โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทาย อาเซียนและอินเดียต่างเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ได้ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกันมาโดยตลอด ทั้งนี้ ในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ยุคหลังโควิด-19 นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า อาเซียนและอินเดียจะสามารถร่วมกันสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้คนในรุ่นหลังต่อไปได้ โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้ “มองไปข้างหน้า” มากขึ้นผ่านการส่งเสริมความร่วมมือใน 3 ประเด็น ดังนี้

ประการแรก การส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนและยาต้านโควิด-19 อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็ว นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด และยินดีที่อินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยาและวัคซีนแหล่งสำคัญของโลก ประกาศที่จะส่งออกวัคซีนอีกครั้ง เพื่อช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ในการกระจายยาและวัคซีน และเพื่อห้มั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยอาเซียนและอินเดียยังสามารถร่วมมือกันพัฒนายาและวัคซีน เพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในระยะยาวได้

ประการที่สอง การส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อทำให้การค้าการลงทุนขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการทางหลวงสามฝ่าย ที่จะช่วยเติมเต็มเส้นทางเชื่อมโยงทางบกระหว่างอาเซียนกับอินเดีย และขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้และกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งไทยจะเป็นประธานในปี ค.ศ. 2022-2023 รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยเฉพาะการฟื้นฟูการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคธุรกิจสำคัญของภูมิภาค โดยจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าสามารถเดินทางระหว่างกันอย่างสะดวก ปลอดภัย และมีแนวทางรับรองเอกสารการฉีดวัคซีนร่วมกัน รวมทั้ง สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการในการเปิดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวได้ ซึ่งไทยมีตัวอย่างคือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่เริ่มดำเนินการแล้ว และในขณะนี้ไทยกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป

ประการที่สาม การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อก้าวสู่ยุคใหม่ที่ดีกว่า โดยไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องนี้ พร้อมผลักดันความร่วมมือกับอินเดียในด้านการเติบโตสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเลที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เกษตรอัจฉริยะ และพลังงานหมุนเวียน เพื่อร่วมกันพัฒนา “จุดแข็ง” และรักษา “สมดุล” ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่นำมาใช้สนับสนุนการฟื้นฟูภูมิภาคจากโควิด-19 ได้ โดยอินเดียสามารถร่วมมือกับไทยและอาเซียนได้ ผ่านกลไกศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือแบบ “มองไปข้างหน้า” เป็นกุญแจสำคัญที่จะกำหนดทิศทางความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอินเดียในอนาคต โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2565 ที่อาเซียนและอินเดีย จะฉลองโอกาสความสัมพันธ์ครบรอบ 30 ปี นอกจากนี้ การรับรองแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อินเดีย ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ในครั้งนี้ จะส่งเสริมความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก กับ ข้อริเริ่มมหาสมุทรอินโด-แปซิฟิกของอินเดีย


กำลังโหลดความคิดเห็น