xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย ครั้งที่ 13 มุ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-เกษตร-ฮาลาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย (IMT-GT) ครั้งที่ 13 มุ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-เกษตร-ฮาลาล เชื่อมโยงการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาค


วันนี้ (28 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.15 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 13 (IMT-GT Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายอิซมาอิล ซับรี ยักกบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธาน ADB เข้าร่วม โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานการประชุม เชื่อมั่นว่า ประเทศสมาชิกจะสามารถพัฒนาผ่านดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ IMT-GT ได้อย่างมีศักยภาพภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และเชื่อมั่นว่า จากความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนจะทำให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ได้รวดเร็วขึ้นและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคนี้จะเป็นประโยชน์

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิดอาจทำให้กระทบต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ บ้าง อินโดนีเซียมีข้อเสนอ ว่า ควร 1. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาถนนและท่าเรือ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับสูงและยั่งยืน เช่น ดิจิทัลทางการเกษตร และ 3. เร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีนี้ ว่า ยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงาน IMT-GT ในครั้งนี้ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก รวมถึงอนุภูมิภาค IMT-GT เป็นอย่างมาก แต่การดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในเชิงรุก ควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในทั้ง 3 ประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การให้ความช่วยเหลือประชาชนในหลายรูปแบบ ล้วนมีส่วนประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจของทุกประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตมาได้ ทั้งนี้ในส่วนของไทย ได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และได้เตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ผ่านโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” ซึ่งความสำเร็จของโครงการถือเป็นเครื่องยืนยันว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเปิดประเทศ

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทั้งสามประเทศจะสามารถร่วมมือกันในลักษณะที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ให้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การร่วมกำหนดมาตรฐานด้านการท่องเที่ยววิถีใหม่ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างรัดกุม

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางความร่วมมือของ IMT-GT เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เร่งพัฒนาและต่อยอดการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงแนวคิด รวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานธรณีโลก 3 ประเทศ เน้นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ 2. อุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด 3. อุตสาหกรรมฮาลาล ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก พร้อมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของ IMT-GT ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. ความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมที่ไร้รอยต่อ สนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งรัดโครงการที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งพิจารณาโครงการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เข้ามาบรรจุไว้ในโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs)

2. ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ เร่งรัดการลงนามกรอบความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันโรคพืชและสัตว์ (CIQ) ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีภายในต้นปีหน้า เพื่อให้การข้ามพรมแดนและการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่าง 3 ประเทศมีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น นำไปสู่การขยายตัวด้านการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาค

3. การเสริมสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินโครงการเมืองสีเขียว และโครงการตามแผนการลงทุนกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ของไทย ผ่านการระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการแล้ว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อน IMT-GT ในระยะต่อไป ไม่เพียงแต่จะต้องตอบโจทย์วิสัยทัศน์ปี 2036 และเป้าหมายการพัฒนาของประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่จะต้องสอดรับกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการประชุมในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ














กำลังโหลดความคิดเห็น