xs
xsm
sm
md
lg

“ทูตนริศโรจน์” ฟาด “เนติวิทย์” ต้นตอไม่เท่าเทียม คือ ฟุตบอลประเพณี “จุฬาฯ-มธ.” อบจ.เหิมหนัก ยกเลิก “อัญเชิญพระเกี้ยว” รุก “สถาบันฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ “เนติวิทย์” นำขบวนยกเลิก “อัญเชิญพระเกี้ยว” อ้างล้าหลัง สัญลักษณ์อำนาจนิยม ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
แก้ที่ต้นตอ! “อดีตทูตนริศโรจน์” ตอกเจ็บ “ไม่เท่าเทียม” คือ ฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-มธ. “เนติวิทย์” นำขบวนยกเลิก “อัญเชิญพระเกี้ยว” อ้างล้าหลัง สัญลักษณ์อำนาจนิยม “อบจ.” รุกสถาบันฯหนัก ชาวเน็ตประชด ปีหน้าเปลี่ยนโลโก ชื่อ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (24 ต.ค. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น อดีตทูตนริศโรจน์ ตอกเจ็บ ต้นตอความไม่เท่าเทียม คือ ฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-มธ.

โดยระบุว่า สืบเนื่องจากกรณี องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่มี นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายก อบจ. ได้โพสต์แถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จนกลายเป็นกระแส ไม่เห็นด้วย และหมิ่นเหม่ต้องการจาบจ้วงสถาบันฯหรือไม่

เรื่องนี้ นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า

“เอางี้มั้ยครับ ถ้าอยากเน้นความเท่าเทียมกันในสังคม ด้วยการยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยว ผมว่าเรามองไปที่ต้นตอเลยดีกว่า นั่นคือ เลิกจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-มธ. ไปเลยละกัน นี่พยายามช่วยน้องๆ คิดนะครับ

เพราะอะไร จะสรุปเป็นข้อๆ ละกัน
1. การแข่งขันฟุตบอลแต่ละปี เน้นเอาชนะ สร้างอัตตา ว่า สถาบันของฉันเก่งกว่าของแก เวลาใครชนะ ใครแพ้ ก็ก่อให้เกิดอารมณ์ ทั้งสะใจ ทั้งประชดประชัน ทั้งเคือง ทั้งน้อยใจ บางทีก็เกิดปะทะกันในระหว่างเล่น บางทีอาจสร้างความแตกแยกแบ่งเขาแบ่งเราเกทับกันมากกว่าสร้างสามัคคีด้วยซ้ำ ยิ่งการแข่งขันในยุคปัจจุบันเน้นเอาชนะมากกว่าทุกสิ่ง ถึงขนาดดึงเอานักเล่นทีมชาติมาสังกัดสถาบันของตัวเอง แทนที่จะใช้ นิสิต นศ. จริงๆ เล่น

2. ประหยัดไม่ต้องมาทำเสื้อเชียร์ขาย ไม่ต้องตัดชุดแพงๆ เน้นแฟชั่นทุนนิยมให้บรรดาเชียร์ลีดเดอร์ ไม่ต้องขนคนให้มานั่งตากแดดแปรอักษร

3. จะได้ไม่ต้องมีขบวนล้อการเมืองที่มองอะไรแบบเอียงข้าง ด้วยมิติแบนๆ ด่าอีกฝ่าย แต่ไม่แตะอีกฝ่าย ทั้งๆ ที่ทำระยำพอกัน หรือมากกว่า

ภาพ นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ถ้าเลิกที่ต้นตอได้ ก็ไม่ต้องอัญเชิญพระเกี้ยว แต่ผมเสนอทางออกว่า แทนที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอล ก็จัดให้นิสิต นศ.ของทั้งสองมหาวิทยาลัยออกไปทำกิจกรรมรับใช้สังคม ทำอะไรให้ปังๆ ใหญ่ๆ ไปเลยในแต่ละปี เช่น ไปช่วยกันปรับปรุงสลัม ไปช่วยกันปลูกป่า ไปช่วยกันทำความสะอาดล้างถนน ไปช่วยสร้างโรงเรียน หรือซ่อมแซมโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ฯลฯ

ว่าแต่ว่าโครงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อประชาชนแบบนี้ จะมี นิสิต นศ.ที่ชอบอ้างเรื่องความเท่าเทียมกัน อ้างประชาชน ไปกันสักกี่คน เท่านั้นแหละ !?

ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ซึ่งมี นายเนติวิทย์ เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ โพสต์แถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว เป็นส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยรูปแบบของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้น จำลองกระบวนแห่อย่างราชสำนัก ในกิจกรรมดังกล่าวจะมี “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ถือ “พระเกี้ยว” ที่เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งบนเสลี่ยงซึ่งถูกแบกโดยนิสิตกว่า 50 คน อีกทั้ง ผู้อัญเชิญซึ่งมาจากกลุ่ม CU Coronet ยังถือว่าเป็นตัวแทนของความเป็นจุฬาฯ ในกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีและในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ ต่อไป

ทว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่า คนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ของศักดินา คือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส และยังมีข้อกังขาว่าเป็นการสนับสนุน ความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่งในสังคม

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง ดังที่เห็นจากกระบวนการหานิสิตหอในเพื่อมาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้น มีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก

คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน จากมติในวาระการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ มีมติ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ- ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป

ให้คนเท่ากัน คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา”

ภาพ การเคลื่อนไหวในอดีตของนายเนติวิทย์ ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
สำหรับ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ เคยออกมาต่อต้านและขอให้เลิกบังคับใส่ชุดนิสิต หนุนให้นักศึกษาไม่รับปริญญา โจมตีกรณีเมื่อครั้งที่มีเหล่านิสิตไปร่วมกับม็อบ กปปส. โดยทุกครั้งจะถูกวิจารณ์อย่างหนัก จากรุ่นพี่จุฬาฯและเด็กเก่า ว่าไม่เหมาะสม เป็นการทำลายระเบียบอันดีงาม

อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์ตอนนี้ ได้มีการกล่าวถึงประเด็นปลุกยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ อ้างว่า ล้าหลังนั้น เช่น อนาถใจกับ #คนรุ่นหลัง อย่างพวกมึงจริงๆ นี่ดีนะที่กูไม่นับรุ่นพี่รุ่นน้องกับใครที่จุฬาฯ แต่ยังไงกูก็ภูมิใจที่ได้เรียนที่นั่น เรียกว่าไม่เสียชาติเกิด, องค์การฯนิสิตจุฬา แถลงการณ์ “ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว” ชี้ เป็นกิจกรรมที่ล้าหลัง #พระเกี้ยว เปรียบได้กับ #พระมหาพิชัยมงกุฎ ของพระมหากษัตริย์ พวกมึงกล้าดียังไงไปด้อยค่าพระเกี้ยว อีกหน่อยคงเหิมเกริมขนาดรณรงค์ให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย

ปีนี้ยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยว ปีต่อไป ไม่เปลี่ยนโลโก้ เปลี่ยนชื่อมหาลัยเลยดีมั้ย อีกทั้งยังมีหลายคอมเมนต์ย้อนถามองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ด้วยว่า ปัญญาชน ควรคิดได้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เขาถึงเรียกว่าปัญญาชน

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีหลายคนต่างตั้งคำถามถึง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญที่ถูกสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่เมื่อลองย้อนกลับไปดู ภายในเพจของ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยิ่งทำให้ได้ทราบถึงการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะ ก่อนเพจสาธราณะขององค์การบริหารจุฬาฯ จะออกแถลงการดังกล่าว องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ พร้อมภาพที่หลายคนต่างตั้งคำถามในมุมมองต่อสถาบันฯ โดยมีรายละเอียดว่า

หากความดีเปรียบเป็นสีขาว ความชั่วเปรียบเป็นสีดำ มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นสีเทา แต่ไม่ว่าจะเป็นสีเทาโทนไหน “ความเป็นมนุษย์” ล้วนเท่ากัน

เนื่องในโอกาสครบรอบ ๙๙ ปี หนังสือ “มหาวิทยาลัย” สาราณียกรขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ราชาผู้เป็นที่รัก”

ด้วยจุดมุ่งหมายการศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ “การรับใช้ประชาชน” แผนกสาราณียกรขอเรียนเชิญพี่น้องชาวจุฬาฯ ทั่วไทย ทั่วโลก และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทำความดี ที่มิใช่เพียงการบริจาคเงิน หากแต่เป็นการศึกษาและวิเคราะห์มุมมองประวัติศาสตร์หลากแง่มุม เพื่อประโยชน์แห่งประชาชนอย่างแท้จริง ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
สาราณียกรภูมิใจนำเสนอ
มหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาคม
“ปิยมหาประชานุสรณ์”

ภายในเล่มนี้ มีเนื้อหามากมายที่ชาวสาราณียกรได้ใช้ความเพียรพยายามและความมุมานะ ร้อยเรียงขึ้น เพื่อพินิจพิจารณามุมมองประวัติศาสตร์แห่ง “ความเป็นมนุษย์” ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

– ปลุกความ “ชังชาติ” ในตัวคุณ : วาทกรรมว่าด้วยสยามกับการเสียดินแดน
– “กบฏผีบุญ” เลือดอีสานหลั่งรินริมแผ่นดินรัชกาลที่ ๕
– การเลิกทาส ผลพลอยได้จากการสลายขั้วอำนาจ
– ความเชื่อเทวราชากับสังคมไทย
– บอกเล่าเก้าสิบ : บันทึกการสนทนาว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านรัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕
– #มาตรา๑๑๒ ราชนิติธรรมที่มาพร้อมกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
– ตุลามหาประชานุสรณ์ – เดือนตุลาฯ เป็นของประชาชน

ยังมีเรื่องราวและพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกมากมาย ร่วมรำลึกถึง “พระมหากรุณาธิคุณ” ของ “ราชาผู้เป็นที่รัก”

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งและทำให้หลายๆคนต่างพูดถึงเป็นวงกว้าง นั่นก็คือ การติดแฮชแท็กของเพจดังกล่าว ว่า #ไม่มีน้ำเงินมีแต่เลือดแดงเหมือนกัน #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #ยกเลิก 112

หลังจากนั้น ความชัดเจนของการขับเคลื่อนในเรื่องสถาบันก็เกิดนขึ้น นั่นก็คือ การที่ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

แน่นอน, เห็นได้ชัดว่า ผู้นำนักศึกษา ทั้ง จุฬาฯและธรรมศาสตร์ ต่างแสดงออกอย่างชัดเจน ว่า ในรุ่นของพวกเขา ไม่ให้ความสำคัญกับประเพณีวัฒนธรรม ที่พวกเขาเชื่อว่าไม่สอดคล้องกับเสรีประชาธิปไตย แบบสากล ตามที่ถูกปลุกปั่นจากนักวิชาการบางกลุ่ม และนักการเมืองบางพรรคบางพวก

ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนเดียวกันกับ “ม็อบสามนิ้ว” ที่เรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” ยกเลิก ม.112 แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ รวมทั้งขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ข้อหาสืบทอดอำนาจเผด็จการออกจากอำนาจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ก็คือ ปัญหาไฟลามทุ่ง ที่บางครั้งอาจไม่ต้องการเหตุผล การก่อเกิดแต่ประการใด เพราะอย่าลืม ถ้าวิเคราะห์จากการกระทำของผู้นำนักศึกษาครั้งนี้ พวกเขาเหิมเกริมอย่างมาก และท้าทายอย่างสูง ต่อสถาบันฯ และมีการรุกอย่างเป็นขบวน ทั้งม็อบสามนิ้ว และในรั้วมหาวิทยาลัย

ถ้าทำสำเร็จ นี่อาจจะเป็นการฝ่าด่านแห่งความเกรงกลัวไปได้อีกด่านหนึ่ง หลังจากก่อนหน้านี้ พวกเขาทะลุเพดานแห่งความกลัวขั้นแรก ในการพูดถึงสถาบันฯอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่า พวกเขาจะต้องแลกด้วยคดี 112 คนละหลายคดี

ดังนั้น ครั้งต่อไป คืออะไร จะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ จึงนับว่าน่าจับตามอง เพราะถึงตอนนี้ คงไม่มีใครเชื่อแล้วว่า แค่นักศึกษา คนรุ่นใหม่ คิดต่างกับผู้มีอำนาจ และอยากให้ฟังพวกเขา เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว พวกเขามี “ธง” และยุทธศาสตร์ที่จะต่อสู้อยู่แล้ว ไม่ใช่การเจรจาต่อรอง หรือ ประนีประนอม เพราะข้อเรียกร้องมันชัดเจนอยู่แล้วว่า ประนีประนอมยากลำบากเหลือเกิน และใครจะกล้าตัดสินใจ รับข้อเรียกร้องของพวกเขา ต่อให้เป็นรัฐบาล “ธนาธร-ปิยบุตร” ก็ตาม หรือไม่จริง!?


กำลังโหลดความคิดเห็น