xs
xsm
sm
md
lg

สสส. ปลุกพลัง “พลเมืองอาหาร” สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนใน’วันอาหารโลก’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. ปลุกพลัง “พลเมืองอาหาร” สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนในวันอาหารโลก ห่วงคนไทยกินอาหารไม่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เร่งสร้างความเข้มแข็งผู้ผลิต กระตุ้นผู้บริโภคให้กินอย่างรู้ที่มาของอาหาร พร้อมหนุนทางเลือกช่วยเกษตรกรกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากควบคู่ความมั่นคงทางอาหารในชุมชน
วันนี้(16 ต.ค.64 )ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า เนื่องในวันอาหารโลก (World Food Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี สสส. โดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมภายใต้แนวคิด “พลเมืองอาหาร (Food Citizenship)” และ ร่วมพลิกโฉมระบบอาหารที่ดีและยั่งยืนในอนาคต เริ่มจากมื้ออาหารเพื่อสุขภาพของคุณเพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนของโลกเรา (Our action are our future) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงศักยภาพ สิทธิ หน้าที่ ในการเข้าถึงและบริโภคอาหารที่มีสุขภาวะ โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตนเองและสังคม เพราะเมื่อทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบอาหารเกิดการตื่นรู้ในวิถีของการบริโภค ตระหนักถึงสิทธิในอาหาร และร่วมปกป้องระบบอาหารที่ยั่งยืน จะทำให้สังคมเราเกิดพลเมืองอาหารที่เข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สสส. กำหนดจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ที่จะมุ่งสร้างความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะแก่ประชาชนทุกช่วงวัย ให้มีความตระหนักในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งส่งผลต่อการผลิต การกระจาย และการบริโภคอาหาร รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมของระบบอาหาร พร้อมรับมือกับภาวะวิกฤตต่างๆ ในปัจจุบันและอนาคต

“พฤติกรรมการกินของคนไทยเปลี่ยนไปมาก กินผักผลไม้น้อยลง พึ่งพาการกินอาหารในระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้คุณค่าของระบบอาหารตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิตที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของผู้บริโภคให้มากขึ้น ลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ส่วนผู้บริโภคก็ต้องระลึกอยู่เสมอว่ามีพลังอยู่ในตัว สามารถแสวงหาองค์ความรู้ ปรับพฤติกรรมการกินและวิถีชีวิตของตนเอง และกำหนดได้ว่าจะกินอะไรให้มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งพลังนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่มื้ออาหารของตนเอง ชุมชน และเปลี่ยนกลไกทางการตลาด ในการผลิตและกระจายอาหารที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ดร.เพ็ญ สุขมาก อาจารย์ประจำสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในฐานะผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้ขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับไปสู่นโยบายสาธารณะ “พืชร่วมยาง” กล่าวว่า การปลุกพลังพลเมืองเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนระบบอาหารให้ยั่งยืนนั้น ต้องชี้ให้เกษตรกรเห็นจุดวิกฤต หรือความทุกข์ที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่ว่าเกิดจากอะไร อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ มาจากราคายางตกต่ำ เกษตรกรก็ประสบความยากลำบากมีรายได้ไม่เพียงพอ บางรายไม่มีเงินที่จะซื้อข้าวกิน สาเหตุสำคัญคือการใช้พื้นที่สำหรับปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกยางอย่างเดียวจึงทำให้เสียโอกาสในการปลูกพืชอย่างอื่น โดยเฉพาะพืชที่เป็นอาหาร ดังนั้นการชี้ให้เห็นถึงจุดวิกฤตจึงช่วยให้การชักชวนมาสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกันนั้น เป็นไปได้ง่าย เพราะเห็นความทุกข์จากปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทางออกอย่างยั่งยืนของเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการ คือการปลูกพืชร่วมยาง เช่น ขิง ข่า ขมิ้น ผักพื้นบ้าน และพืชสมุนไพรบางชนิด รวมถึงผลไม้ เช่น ระกำ สละ ลองกอง ก็สามารถปลูกได้ นับเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนด้วย

ด้านนางวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้ดูแลโครงการสนับสนุนวิชาการและการบูรณาการระบบอาหารสุขภาวะสู่การสร้างสรรค์พลเมืองอาหาร ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า ผู้บริโภคยังคงใช้ชีวิตท่ามกลางความเสี่ยงกับระบบอาหารที่ไม่ปลอดภัย โดยเมื่อปี 2560 มูลนิธิการศึกษาไทยได้เก็บตัวอย่างเลือดของนักเรียนในโรงเรียน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สกลนคร ปทุมธานี และพังงา พบว่า มีนักเรียนถึง 63% มีสารเคมีทางการเกษตรปะปนอยู่ในเลือด นอกจากอาหารที่กินจะไม่ปลอดภัยแล้ว ยังไม่มีคุณค่าทางโภชนาการด้วย เพราะกินแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาต้นทางคือ การเลือกกินอาหารที่มีความปลอดภัย กินอย่างหลากหลาย กินอย่างมีคุณภาพ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือไม่กินอาหารที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมมากเกินไป ก็จะช่วยดูแลสุขภาพตนเองได้มาก เหตุนี้เราต้องไม่ลืมว่าเราสามารถออกแบบการกินของเราได้ โดยการกินให้มีประโยชน์และกินอย่างรู้คุณค่า ร่วมขับเคลื่อนพลังพลเมืองอาหารได้ที่ www.foodcitizenmap.com


กำลังโหลดความคิดเห็น